เมื่อใดที่มีข่าวสร้างความรุนแรงโดยเฉพาะเหตุการณ์ใช้อาวุธปืนในที่สาธารณะ ไม่จำกัดว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นเด็กเยาวชนหรือไม่ ในตอนนี้สังคมต่างพุ่งเป้าไปมองสาเหตุของการเกิดเหตุการณ์สลดขึ้น และสิ่งหนึ่งที่ถูกนำมาแขวนในทันทีก็คือ เกมสร้างความรุนแรง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เกมสร้างความรุนแรง
จะบอกว่าเกมคือแพะรับบาปของสังคมช่วงหนึ่งเลยก็ไม่ผิดนัก หลังจากที่ยุคของเกมมีความแพร่หลายและเกิดคำศัพท์คำว่าเด็กติดเกมขึ้นมาครั้งแรก หลังจากนั้นไม่นานนักเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นเกมก็จะถูกโยงเป็นสาเหตุในทันที
ตัวอย่างสิ่งที่ข่าวนำเสนอออกมาไม่ว่าจะเกี่ยวจริงหรือไม่เกี่ยวเลยแม้แต่น้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจะมีการพาดหัวว่า “…คลั่งเกมเอาปืนไล่กราดยิง” “…เผยเลียนแบบเกม” และอีกมากมายโดยเมื่ออ่านเนื้อหาแท้จริงแล้วกลับพบว่า การทำข่าวมักมีการใช้คำถามชี้นำเช่น “เคยเล่นเกมไหม” “ปกติเล่นเกมหรือไม่” “ทำแบบนี้เพราะเล่นเกมหรือเปล่า” โดยหลักก็คือเป็นการถามคำถามโดยการชี้นำ ซึ่งตัวผู้เขียนไม่ใช่นักข่าวสายอาชญากรรมไม่รู้ว่ามันผิดจรรยาบรรณหรือไม่ แต่ว่าถ้าเป็นฐานะบุคคลากรทางการแพทย์ที่อาจารย์สั่งสอนมา การใช้คำถามแบบนี้ ไม่มีข้อดีแต่อย่างใด
ลักษณะคำถามเช่นนี้ ถูกใช้มากในกลุ่มนักดูดวง จะเป็นคำถามกว้างๆ ช่วงนี้คุณรู้สึกแบบนี้อยู่ใช่ไหม เคยทำสิ่งนี้มาหรือเปล่า หรือถ้าเทียบแบบง่ายๆ ในทางการแพทย์ ถ้าแพทย์หรือเภสัชกรถามว่า “ช่วงนี้มีอาการปวดหัวไหมครับ” คนไข้ถึงแม้จะแทบไม่มีอาการปวดหัวแต่สามัญสำนึกจะตอบว่ามีอาการปวดหัวบ้างเป็นปกติ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดในการวินิจฉัย
เช่นเดียวกับการถามคำถามสัมภาษณ์เพื่อเขียนข่าวการตั้งคำถามชี้นำ ยิ่งกับผู้ต้องหา เนื่องจากสภาพหลังก่อเหตุของของผู้ต้องหาเองก็ไม่ได้อยู่แบบเต็มร้อยอย่างแน่นอน ต้องสู้คดี ติดคุก ความเครียดรุมเร้า หากมีนักข่าวมาถามแบบข้างต้น แถมยังถามแบบเน้นย้ำว่าที่พูดมาจริงหรือ ไม่เล่นสักหน่อยหรือ การตอบปัดสวะพ้นตัวเพื่อลบความรำคาญตรงหน้าก็คือคำตอบ
ย้อนความ
ข่าวครั้งแรกว่าเกมเป็นสาเหตุของคดีความคือวัยรุ่นม.6 เลียนแบบเกม GTA ฆ่าชิงทรัพย์แท็กซี่ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551 โดยตัวผู้ก่อเหตุให้เหตุผลไว้ว่า “ตัดสินใจก่อเหตุดังกล่าว เพราะเห็นจากในเกม GTA เกมออนไลน์ที่เล่นเป็นประจำ มีรูปแบบเป็นเกมไล่ฆ่าของแก๊งมาเฟีย ตนจึงจำแบบอย่างในเกมแล้วลอกเลียนเอามาทำจริงๆ เห็นว่าได้เงินง่ายไม่น่าจะยาก จึงลองทำดูโดยไม่คิดว่าจะจบลงแบบนี้…ยืนยันว่าไม่ได้ติดยาเสพติดหรือติดการพนัน ต้องการทรัพย์ไปใช้จ่ายส่วนตัว…ทุกวันนี้ที่บ้านให้เงินใช้วันละ 100 กว่าบาท แต่ไม่พอ แต่ไม่ได้บอกให้ทางบ้านรู้ ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพครอบครัว”
เมื่อมาย้อนดูข้อเท็จจริงเราจะเห็นว่า GTA ไม่ใช่เกมออนไลน์ และยังมีการระบุถึงสภาพครอบครัวที่ไม่ได้ดีนัก จึงทำให้เกิดเหตุสลดอย่างว่า ซึ่งข่าวนี้ทำให้เหล่าผู้ใหญ่ในบ้านเราตื่นตัวเริ่มไล่กวดขันลูกในบ้านเกี่ยวกับเกม แถมข่าวนี้ยังเป็นข่าวดังกระแสดีอีกด้วยแต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้เขียนจะเข้าข้างว่าเกม GTA ไม่ได้ก่อให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น แต่มันมีสาเหตุอื่นมาเป็นปัจจัยประกอบ เพียงแต่ตัวเกมเป็นตัวจุดชนวนจากความไม่รู้ของผู้ก่อเหตุ
จรรยาบรรณในงานธุรกิจ
แม้ว่างานทุกงานต้องมีคุณธรรมและจรรยาบรรณแต่ว่าผลสุดท้ายแล้วถ้าไม่ได้เงินเลี้ยงชีพไม่ได้จะทำไปทำไม นักข่าวก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครเป็นคนดีทำเพื่อการกุศล ยิ่งระดับหัวหน้าผู้ลงทุนก็ต้องอยากได้เงิน ซึ่งมาจากเรตติ้ง ถ้าเป็นสมัยก่อนก็หนังสือพิมพ์ขายได้มาก เดี๋ยวนี้ก็มีผู้รับชมทั้งทางโทรทัสน์หรือออนไลน์เพื่อขายโฆษณาเป็นรายได้
และการตั้งหัวข้อเรียกแขกพาดหัวข่าวก็เป็นหนึ่งในเทคนิคเบื้องต้น ถ้ามีคนเขียน 2 คน คนหนึ่งเขียนแบบเรียบสนิทไม่มีท่อนฮุค ไม่มีคำล่อการกดเข้ามา ไม่เร้าใจก็จะดึงดูดคนมาอ่านต่อไม่ได้ ต่างจากคนที่เขียนแบบล่อเท้า ถึงแม้คนอาจจะไม่ชอบแต่แค่คลิกเข้ามาก็ได้ค่าโฆษณา เหมือนช่วงที่มีข่าวคลิกเบทที่ระบาดอยู่พักหนึ่งด้วยการเขียนแบบคุณต้องทึ่งเมื่อรู้สิ่งนี้ คนก็จะแบบสิ่งไหนกัน แล้วก็กดเข้าไปเพราะอยากรู้ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน
ยิ่งกระแสสังคมจำนวนมาก เวลาเกิดเหตุสลดนอกจากการถล่มไปที่คนร้ายแล้ว ต้องมีจุดระบายอารมณ์ความโกรธเกรี้ยวของประชาชนเพิ่มเติม ดังนั้นแพะจำเป็นต้องมีขึ้นมาในสถานการณ์แบบนั้น เกมที่พูดไม่ได้ กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อซึ่งถูกกระทืบแล้วมีคนพร้อมเหยียบตามจนทำให้ยอดขายพุ่งทะลุสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมันไม่ใช่แค่มีคนเชียร์แล้ว คนอีกฝั่งถ้าเข้ามาอ่าน เข้ามาด่ากลับก็ถือว่าเป็นเรตติ้งของข่าวเช่นเดียวกัน
เกมคือโลกาภิวัฒน์ สิ่งใหม่ น่ากลัว
มนุษย์จะมีการตอบสนองต่อสิ่งไม่รู้ด้วยการจินตนาการให้อันตรายกว่าความจริง คนเชื่อว่าถ้าเดินเรือไปมากเกินจะตกขอบโลกตาย ได้ยินแสงไฟในป่าก็คิดว่ามีผีจะมาฆ่าตน เกมสามารถจัดอยู่ในหมวดหมู่นั้นเช่นเดียวกัน ถ้าจะบอกกับคนที่มีอายุอานามอยู่บนโลกมาแล้ว 30 ปีจนถึงวัยใกล้ฝาโลง เกมในยุคปี 2000 กว่าๆ ในประเทศไทยมันคือสิ่งใหม่มากๆ เทียบกับอายุการลืมตาดูโลกของพวกเขาแล้วเกมนั้นเรียกว่าไม่ได้เสี้ยวของชีวิตเสียด้วยซ้ำ และเมื่อเขาไม่รู้จัก พอมีการจุดประกายครั้งแรกว่าเกมมันอันตราย คนเหล่านั้นย่อมมองเกมเป็นสัตว์ประหลาดที่พร้อมขยี้กำแพงจิตใจได้ตลอดเวลา
และด้วยสาเหตุที่กล่าวมา คนที่ตั้งกำแพงกับเกมก็จะเป็นกลุ่มผู้พอมีอายุไปโดยปริยาย ทำให้มีหน้าตาทางสังคม จึงทำให้แนวคิดนี้ฝังลึกจนยากจะถอนออก ตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีการโทษเกมอื่นๆ เช่น ปล้นชิงทองลพบุรี ก็มีหลายคนแสดงความเห็นว่าเพราะมันเล่นเกมแน่ๆ เลยมีจิตใจโหดเหี้ยมขนาดนี้ แถมขนาดผู้ต้องหาปฏิเสธเสียงแข็งว่า “ไม่ได้เล่นเกม” ก็ไม่มีใครสนใจอีกแล้ว หรือแม้แต่เหตุการณ์กราดยิงโคราช ขนาดว่ามีเหตุจูงใจชัดเจนว่าต้นเหตุคืออะไร เกมยังไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนระดับรัฐมนตรี
ตกลงแล้วเกมเป็นแพะ หรือคนร้ายตัวจริง
อ้างอิงจากงานวิจัยจำนวนมากกว่า 100 ฉบับ รวมถึงการศึกษาแบบ Meta-Analysis (เป็นงานวิจัยในลักษณะรวบรวมงานวิจัยอื่นจำนวนมากมาประเมินความน่าเชื่อถือ) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกมไม่มีความเกี่ยวข้องในการสร้างความรุนแรงในตัวผู้เล่น
ตัวอย่างเช่นงานวิจัยของ Joseph Hilgard จากมหาวิทยาลัย Illinois State ได้สร้างงานวิจัยโดยแบ่งเป็นเกมยากจนหัวร้อน กับเกมที่ส่งเสริมความรุนแรง ซึ่งเทียบผลผู้ทดลอง 275 คน เทียบระหว่างก่อนหลังด้วยคำถามที่เกี่ยวกับการประเมินทางจิต โดยสรุปแล้วไม่ได้มีความต่างกันแต่อย่างใด
ถึงกระนั้นงานวิจัยขั้วตรงข้ามก็มี เพียงแต่มีจำนวนอยู่น้อย และมักถึงถอนในภายหลังตามหลักงานวิจัยที่ไม่ได้มีมาตรฐาน แต่เมื่อมีงานวิจัยทำนองนี้แต่ละครั้งได้รับการตีพิมพ์ ก็จะมีการกระจายปากต่อปากและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วโดยไร้การตรวจสอบความน่าเชื่อถือของงานวิจัยเลยแม้แต่น้อย
หรืออย่างเช่นที่ WHO ได้บรรจุอาการติดเกมเป็นหนึ่งในอาการป่วย แต่ด้วยเงื่อนไขที่ยากจนทุกคนต้องรู้สึกว่า ถ้าเล่นขนาดนี้เพื่อติดเกม มันช่างยากเสียเหลือเกิน(ต้องเล่นเกมจนสูญเสียความสามารถในการทำกิจกรรมทางสังคมอื่น และสามารถพิสูจน์ว่าเกิดเหตุการณ์นี้มากกว่า 12 เดือน) ทำให้หลายคนมองเกมเป็นผู้ร้ายมากขึ้นไปอีก แม้เมื่อเจาะลึกถึงเหตุผลความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะเป็นการรวมตัวของหลายปัจจัยทั้งปัญหาด้านพื้นฐานทางสังคม การงาน ครอบครัวแทบทั้งสิ้น จนพวกเขาต้องหาทางออกเป็นเกมเพื่อหลบหนีจากโลกความจริง
เหตุการณ์ล่าสุดสังคมควรรับรู้อะไร
มาจนถึงเหตุการณ์สลดล่าสุดกับการกราดยิงที่พารากอน ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจแก่ผู้สูญเสียในเหตุการณ์ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่เกมถูกนำมาพูดถกเถียง ถึงแม้ว่าจะในทางที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นดั่งไฟลามทุ่งว่า เกมทำให้เด็กคนนี้สามารถกราดยิงเป็น เพราะเกมที่เขาเล่นทำให้เขาใช้ปืนเป็น นอกจากนี้ยังมีการไปซ้อมเกมตู้เสมือนจริงทำให้ยิงได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งที่หากไปดูข้อเท็จจริงแล้ว เด็กเล่นเกมร้อยทั้งร้อย ไม่สามารถยิงปืนจริงได้แม้แต่น้อย ส่วนเกมตู้ที่ผู้ก่อเหตุเล่นก็เป็นเกมแนวเต้น ไม่ได้มีอุปกรณ์ปืนจำลองแต่อย่างใด แต่เหตุผลที่แท้จริงคือเจ้าตัวสามารถเข้าไปซ้อมที่สนามยิงปืนจริงแถมยังเอากระสุนออกมาได้โดยไร้การควบคุม
ถึงกระนั้นก็ยังมีบุคคลอีกหลายคนที่มองว่าไม่ว่าคนในวงการเกมจะปฏิเสธอย่างไร เกมนี่แหละคือชนวนในการที่ทำให้ผู้ก่อเหตุมองว่า ถ้าทำได้ในเกมแล้วทำไมจะทำในชีวิตจริงไม่ได้ จนลืมสาเหตุเดิมอย่างปัญหาด้านพื้นฐานทางสังคม การงาน ครอบครัว ในที่นี้การงานก็คือการเรียนรูปแบบใหม่ซึ่งยังคงต้องมีการถกเถียงอีกมากถึงรูปแบบการเรียนลักษณะนี้ว่าดีกว่าสำหรับเด็กในอนาคตจริงหรือไม่
สุดท้ายนี้การเปลี่ยนความคิดของผู้คนไม่ใช่เรื่องง่ายสิ่งสำคัญคือการกระทำของตัวเราเองผู้อยู่ในวงการเกม ไม่ว่าจะผู้ผลิต ผู้เล่น พยายามสร้างค่านิยมใหม่ เกมเป็นสิ่งบันเทิงซึ่งไม่ต่างจาก ศิลปะ ดนตรี หรือภาพยนตร์ ทุกคนในวงการต้องพยายามอย่าใช้ถ้อยคำรุนแรง ควบคุมอารมณ์ของตนทุกครั้งเมื่อเห็นข่าวในลักษณะข้างต้น อธิบายคนรู้จักด้วยเหตุผล หากใช้อารมณ์เข้าสู้แล้ว คนภายนอกผู้ซึ่งมองเกมคือสิ่งอันตราย ก็จะเชื่ออย่างแท้จริงว่า เกมทำให้เป็นคนรุนแรงพร้อมทำร้ายคนรอบตัวอย่างแท้จริง
แต่จากเหตุการณ์ล่าสุดนี้ผู้เขียนขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชนที่มีความเข้าใจในตัวเกมมากขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน แทบไม่มีสื่อใดพาดหัวว่า กราดยิงเพราะติดเกม เพียงแต่เป็นประเด็นซึ่งสามารถถูกตั้งคำถามได้คือ พบว่าผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมเล่นเกมซึ่งนั่นคือความจริง และหลังจากเกิดกรณีนั้นขึ้นชาวเน็ตส่วนมากก็ออกมาสนับสนุนจนเกิดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ แสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไปซึ่งทำให้เกมเมอร์หัวใจฟูกันได้เลยทีเดียว
อ้างอิง
https://www.psychologicalscience.org/publications/observer/obsonline/video-game-mechanics-aggression.html
https://journals.sagepub.com/doi/10.1177/0956797619829688
https://www.scientificamerican.com/article/do-video-games-inspire-violent-behavior/
https://edition.cnn.com/2019/08/05/health/video-games-violence-explainer/index.html
https://www.matichon.co.th/politics/news_1967432
https://voicetv.co.th/read/jQ16xJH_m
http://oknation.nationtv.tv/blog/suranand/2008/08/04/entry-1
https://thematter.co/social/does-violent-video-game-cause-aggressive-behavior/82251
https://thematter.co/social/its-because-of-the-game/17626
https://www.who.int/standards/classifications/frequently-asked-questions/gaming-disorder
อย่าลืมติดตาม Gamer555 เพื่อไม่พลาดข่าวสารเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
Discussion about this post