Gamer555
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • เว็บไซต์อื่นของเรา
    • GamerBraves
    • Wanuxi
    • Gamer Santai
    • GamerWK
No Result
View All Result
  • หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • เว็บไซต์อื่นของเรา
    • GamerBraves
    • Wanuxi
    • Gamer Santai
    • GamerWK
No Result
View All Result
Gamer555
No Result
View All Result

รีวิว DOOM: The Dark Ages – การเล่าเรื่องในยุคกลางที่เกมเพลย์ซับซ้อนกว่า sci-fi

Norrachai Anansakdakul by Norrachai Anansakdakul
15 hours ago
in Playstation, Xbox, ทั้งหมด, รีวิว, รีวิวเกม, เกมพีซี
Reading Time: 5 mins read
0 0
รีวิว DOOM: The Dark Ages – การเล่าเรื่องในยุคกลางที่เกมเพลย์ซับซ้อนกว่า sci-fi
Share on FacebookShare on Twitter

Slayer กลับมาแล้ว! แต่คราวนี้ไม่ใช่ฉากโลกอนาคตอีกต่อไป เพราะ DOOM: The Dark Ages พาเราย้อนกลับไปยังยุคกลางในฐานะภาคพรีเควลของ DOOM (2016) และ DOOM Eternal เช่นเดียวกับเกม DOOM ยุคใหม่ก่อนหน้า id Software ยังคงต้องการให้ทุกภาคมีเอกลักษณ์ สดใหม่ และแยกจากกันอย่างชัดเจน โดยในภาคนี้มาพร้อมระบบใหม่ การต่อสู้ที่เน้นความหนักแน่นและสมจริงมากขึ้น และพยายามทดลองเล่าเรื่องในเชิงลึกเกี่ยวกับอดีตของ Slayer มากขึ้น

แล้วตัวเกมด้านเนื้อเรื่องจะเวิร์คไหม? การต่อสู้ที่ลดความวูบวาบ แต่เพิ่มความหนักแน่นจะยังสนุกเหมือนเดิมหรือเปล่า? และที่สำคัญที่สุด…มันยังโหดเท่าที่ควรจะเป็นหรือไม่? มาดูกันเลยใน รีวิว DOOM: The Dark Ages นี้

Related Posts

CESA ประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนหลัก 14 รายสำหรับโครงการ SELECTED INDIE 80 ในงาน Tokyo Game Show 2025

Honkai : Nexus Anima เกมใหม่? ค่าย HoYoverse

เนื้อเรื่องและฉากหลัง

ในแง่ของเนื้อเรื่อง DOOM: The Dark Ages แตกต่างจากภาคก่อนๆ อย่างชัดเจน แม้จะยังคงเน้นการขับเคลื่อนเกมเพลย์เป็นหลัก แต่คราวนี้มีการเพิ่มฉากคัตซีนและบทสนทนาเพื่ออธิบาย Lore มากขึ้น ตัวละคร Slayer เองก็มีบทบาทและรู้สึกมี “ตัวตน” มากกว่าแค่เครื่องจักรสังหาร

หากไม่อยากโดนสปอยล์เนื้อเรื่องช่วงต้นเกม สามารถข้ามเนื้อหาในช่วงถัดไปได้เลย

*Spoiler Alert

เรารับบทเป็น Slayer ไพ่ตายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่ม Maykr คุณคือเครื่องจักรสังหารที่สามารถเปลี่ยนทิศทางของสงครามกับเหล่าปีศาจ และเป็นที่หวาดกลัวของพวกมัน

คุณได้รับภารกิจให้ช่วยเหล่าผู้พิทักษ์ Sentinel แห่งอาณาจักร Argent D’Nur จากการโจมตีของเจ้าชาย Ahzrak ผู้ซึ่งตามหา “Heart of Argent” สิ่งประดิษฐ์พลังสูงที่สามารถทำให้เขาทรงพลังขึ้นอีกระดับ

ในช่วงแรก Slayer เป็นเพียงร่างไร้ความรู้สึกที่ถูก Maykr ควบคุมอย่างสมบูรณ์ ถูกสร้างมาเพื่อฆ่าปีศาจเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์ซับซ้อนขึ้น Slayer ก็เริ่มต่อต้านและต้องการปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของ Maykr เพื่อทำตามเจตจำนงของตนเอง

*End of Spoil

เราจะสปอยล์สั้นๆ ไว้เท่านี้ก่อน สำหรับเนื้อเรื่องที่หลายคนอยากรู้เพราะเป็นภาคอดีตก็คือต้นกำเนิดของเรา ก็ขอให้อย่าคาดหวัง เพราะผู้เล่นจะไม่ได้รู้ว่าทำไมถึงกลายเป็น Slayer ตั้งแต่แรก แต่เกมก็มีการวาง Lore พอให้แฟนๆ ตัวจริงตามเก็บและต่อภาพได้เอง ทั้งจาก Codex ที่เก็บได้ในฉากและคำบรรยายของไอเท็มต่างๆ

ในด้านงานภาพ เกมได้เปลี่ยนจากห้องแล็บ UAC มาเป็นปราสาทหินพังๆ ทางเดินที่มีแสงจากคบไฟ ลานประลอง และสนามรบที่รู้สึกทั้งกว้างใหญ่และใกล้ตัว อาวุธอย่าง Skull Crusher และ Rail Spike Shredder ให้ความรู้สึก “ยุคกลาง” มากๆ ส่วนปีศาจก็ใส่ชุดเกราะหรือผ้าขาดๆ และโจมตีด้วย “เวทมนตร์” อย่างดาบไฟเขียวหรือพลังวิญญาณ แทนที่จะเป็นพลังยิงแนวไซไฟแบบภาคก่อน

สไตล์ “อัศวินสู้ปีศาจ” นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ภาคนี้โดดเด่นออกจากภาคก่อนหน้า และทุกด่าน ทุกบอส ทุกคัตซีนก็เน้นธีมนี้อย่างหนักแน่น ถ้าคุณกำลังมองหา Slayer ในแบบใหม่ ภาคนี้ตอบโจทย์

ระบบการเล่นและเกมเพลย์ใหม่

ผู้เขียนเล่นจบในระดับ Ultra Violence ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงครึ่งผ่านทั้งหมด 22 บท โดยมีการสำรวจในระดับกลาง เกมมีระดับความยาก 4 แบบหลัก (Aspiring Slayer, Hurt Me Plenty, Ultra Violence, Nightmare) และโหมด permadeath อีก 2 แบบ (Pandemonium, Ultra Nightmare) โดยสามารถปรับแต่งพารามิเตอร์ต่างๆ ได้อย่างละเอียด เช่น ความแรง ความถี่ของทรัพยากร การโจมตีของศัตรู ฯลฯ ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ * และ (M) กำกับว่าเป็นแบบปรับแต่ง

Shield Saw คือหัวใจของระบบต่อสู้ในภาคนี้ ผู้เล่นต้องฝึกฝนการ Parry การโจมตีพิเศษที่เรียกว่า Hell Surge (ที่เป็นสีเขียว) ถ้าไม่ปัดให้ทันก็ตายได้ง่ายๆ การปัดและโต้กลับให้ความรู้สึกดีมาก และยังสามารถพุ่งชนด้วยโล่ (Shield Charge) เพื่อเปิดฉากต่อสู้ หรือทำลายกำแพงเพื่อสำรวจฉากก็ได้ ส่วนการขว้างโล่ (Shield Throw) ก็สามารถสังหารศัตรูทันที หรือทำให้ศัตรูใหญ่ติดสตันเพื่อเปิดช่องโจมตี สำหรับศัตรูที่มีเกราะก็สามารถยิงเกราะจนเปลี่ยนสี แล้วใช้โล่ขว้างเพื่อทำลายได้ เมื่ออัปเกรดแล้วโล่ยังสามารถกระเด้งไปโดนศัตรูหลายตัวอีกด้วย

อาวุธระยะประชิด ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน ผู้เล่นจะได้ Power Gauntlet ที่มีคอมโบต่อยติดสตัน, Flail ที่มีระเบิดวงกว้าง และ Dreadmace ที่รุนแรงมากสุดแต่ชาร์จได้แค่ครั้งเดียว การใช้ Dreadmace โจมตีหลังปัดการโจมตีสำเร็จนั้นสะใจมาก ระบบต่อสู้จึงกลายเป็น “จังหวะของ Parry – ชาร์จ – คอมโบ”

ปืนยังคงมีให้เลือกหลากหลายถึง 12 แบบ เช่น Rail Spike, Plasma Rifle, Reaver Chainshot และ Super Shotgun ปลายเกมผู้เล่นจะได้ BFC Crossbow ที่ยิงได้ 3 นัดแต่รุนแรงมาก ต้องเก็บกระสุนจากในฉาก แม้ปืนจะหลากหลาย แต่ผมใช้ระยะประชิดและโล่มากที่สุด เพราะหลังอัปเกรดแล้วทั้งสองเป็นคู่หูที่โหดสุดในเกม

ระบบ Finish (ฆ่าแบบพิเศษ) กลับมาอีกครั้งแต่ลดความหวือหวาลง เมื่อศัตรูใกล้ตายผู้เล่นสามารถ Daze มันแล้วจบด้วยการโจมตีเพื่อฟื้นเลือดและกระสุน อนิเมชันโดยรวมไม่ได้หวือหวาแบบ Glory Kill ใน DOOM Eternal ซึ่งอาจทำให้แฟนๆ บางคนผิดหวัง แต่มันก็ยังให้ความรู้สึกสะใจอยู่

ระบบอัปเกรด มีหลากหลายมาก ใช้ทรัพยากรอย่างทองหรือทับทิมเพื่ออัปเกรดอาวุธ บางชนิดมีเส้นทางการอัปแยกให้เลือก และมี Rune สำหรับ Shield Saw ที่เพิ่มความสามารถพิเศษตอนปัด เช่น ปล่อยใบมีดพลังงาน หรือเรียกป้อมอัตโนมัติ และยังสามารถเพิ่มเลือด เกราะ หรือกระสุนจากการล้ม Champion หรือ Leader ได้อีกด้วย

ในเรื่องของศัตรู เกมมีความหลากหลายสูง ศัตรูแต่ละแบบมีท่าเฉพาะ บางตัวโจมตีต่อเนื่องแม้เราจะปัดได้แล้ว ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถกดบู๊ได้ตลอด ต้องคิดและอ่านเกมดีๆ เพราะระบบมี “Animation Lock” ที่ทำให้ป้องกันไม่ได้ขณะโจมตีหรือเปลี่ยนอาวุธ นี่อาจเป็นจุดที่แฟนๆ DOOM 2016 และ Eternal ไม่ชอบ เพราะเกมนี้บังคับให้ต้องวางแผนมากขึ้น

อีกระบบใหม่คือ Morale Encounter ซึ่งจะมี Leader ที่อมตะอยู่กลางฉาก และต้องลด “ขวัญกำลังใจ” โดยการฆ่าศัตรูรอบๆ ให้หมดก่อน การเลือกเป้าหมายให้ถูกตัวก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

โดยรวมแล้ว ระบบการต่อสู้ในภาคนี้ “คิดก่อนลุย” มากกว่าแบบเร็วสะใจใน Eternal แต่ก็ยัง “โหด” และ “ถึงใจ” ไม่แพ้กัน

การออกแบบเลเวลและโครงสร้างของเกม

เมื่อตอนที่ผู้เขียนเริ่มเล่นในช่วงแรกของเกม DOOM: The Dark Ages การออกแบบฉากรู้สึก “เรียบง่ายแต่สดชื่น” เส้นทางในแต่ละด่านชัดเจน ผู้เล่นแทบไม่ต้องฝ่าฟันอะไรให้ยุ่งยากเพื่อย้อนกลับไปหาพื้นที่ลับหรือของสะสมที่ซ่อนอยู่ เส้นทางถูกวางไว้ชัดเจน แผนที่ก็ช่วยได้ดีมาก และถ้าผู้เล่นสังเกตสิ่งรอบตัวดีๆ (รวมถึงมินิแมปที่อยู่มุมจอ) ผู้เล่นก็จะสามารถฝ่าฉากต่างๆ ไปได้โดยไม่สะดุด

แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางจนถึงปลายเกม ทางเดินแคบๆ เหล่านั้นกลับกลายเป็นพื้นที่โล่งกว้างขนาดใหญ่ ที่บางครั้งก็รู้สึก…โล่งเกินไป ผู้เขียนรู้สึกว่ามีช่วงเวลาที่ต้องเดินสำรวจมากกว่าฆ่าปีศาจ ซึ่งมันต่างจากที่คาดไว้ เพราะแผนที่ในช่วงหลังใหญ่ขึ้นมาก และถ้าผู้เล่นอยากสำรวจจริงๆ ก็อาจต้องเดินผ่านพื้นที่ที่เคยเคลียร์ศัตรูไปแล้วซ้ำอีก ผู้เขียนเข้าใจว่า “สนามรบ” ก็ควรจะใหญ่ เพราะมันคือ “สงคราม” แต่ก็ยังรู้สึกว่า ฉากพวกนี้ควรจะแน่นขึ้นกว่านี้ หรือไม่ก็ใส่ศัตรูเล็กๆ มาขัดจังหวะให้มันมีชีวิตชีวามากกว่านี้

ส่วนพัซเซิลที่ต้องแก้เพื่ออัปเกรด หรือเข้าพื้นที่ลับนั้น…ก็ถือว่า “โอเค” มีอยู่หนึ่งหรือสองอันที่ทำให้ผู้เขียนต้องคิดจริงๆ แต่โดยรวมแล้วมันไม่ได้ยากอะไร เป็นเหมือนการเบรกจังหวะเกมเพลย์แบบยิงให้หยุดใช้สมองชั่วคราวมากกว่า ผู้เล่นส่วนใหญ่แค่ต้องหามุมให้ถูก หรือเล็งโล่ไปที่กลไก หรือใช้ Shield Charge เพื่อขยับแพลตฟอร์มไปยังตำแหน่งที่ถูกต้องเท่านั้นเอง

แล้วก็มีบทที่เรียกว่า “ภารกิจพิเศษ” ซึ่งการได้ขี่มังกรนั้น ฟังดูอาจจะสุดยอดมากบนกระดาษ แต่พอมาเล่นจริงๆ มันกลับคล้ายเกมยิงแนวอาร์เคดยุคเก่า ผู้เล่นต้องล็อกเป้า เช่น ป้อมปืนของเรือศัตรู แล้วยิงให้ตรงจังหวะ พร้อมหลบกระสุนให้สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ได้พลังยิงแบบพิเศษในการทำลายเกราะและตัวป้อม ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นแค่การทำแบบเดิมซ้ำๆ หลายรอบ

ไม่มีฉาก dogfight แบบจริงจังด้วย ผู้เล่นแค่ไล่ล่าเรือศัตรูและยิงมันให้ร่วงมากกว่าจะได้ต่อสู้อย่างเต็มที่ มันเหมือนกับการฝึกบินหลบสิ่งกีดขวางในพื้นที่แคบมากกว่าการต่อสู้แบบฟาดฟันกลางเวหา มันก็สนุกนะ อย่าเข้าใจผิด แค่เป็นจังหวะเกมเพลย์ที่ต่างไปจากปกติที่ผู้เล่นเดินล่าปีศาจแบบเดิม

แต่ต้องยอมรับว่าถึงแม้จะมีฉากขี่มังกร ผู้เล่นก็ยังต้องลงมาเดินสู้แบบ Slayer ตามปกติ เช่น ถ้าจะทำลายเรือศัตรู ผู้เล่นต้องลงจอด เข้าภายในเรือ และทำลายแกนกลางด้วยมือของตัวเอง หรือเจอภารกิจพิเศษที่ต้องล้ม Leader Demon แบบลับๆ ด้วยตัวเอง

ส่วนฉากที่ผู้เล่นได้ควบคุม Atlan Mech (หุ่นยนต์ยักษ์) นั้น ก็จัดเต็มไปกับลูกเล่นพิเศษอีกระดับ การโจมตีส่วนใหญ่จะเป็นการ “ต่อย” และ “หลบแบบเพอร์เฟกต์” เพื่อสะสมพลังพิเศษที่ใช้ปล่อยท่าไม้ตาย ผู้เล่นบางครั้งก็จะได้ใช้ปืนกลขนาดยักษ์ ที่จะทรงพลังขึ้นเมื่อหลบได้เพอร์เฟกต์เช่นกัน แต่โดยรวมการชกด้วยหมัดใหญ่ๆ ก็ยังสนุกกว่า

มันให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่จริงๆ เหมือนผู้เล่นกลายเป็นหุ่นยักษ์ที่เดินช้า หนักแน่น และทรงพลัง แต่สุดท้ายก็ยังคงเป็น “ด่านโชว์ของ” ที่มีไว้ให้ผู้เล่นพักจากการล่าปีศาจแนวปกติ มากกว่าจะเป็นระบบหลักของเกม จุดประสงค์ของด่านแบบนี้ชัดเจน เพื่อให้ผู้เล่น “รีเฟรช” และสนุกกับการชกมอนสเตอร์ยักษ์อย่างสะใจ

พูดถึงเรื่องดีของการออกแบบเลเวล เกมนี้มีระบบแจ้งเตือนก่อนที่ผู้เล่นจะเข้าสู่จุดที่ “ไม่สามารถย้อนกลับมาได้” ด้วยไอคอนรูปประตู ทำให้ผู้เล่นไม่เผลอพลาดของลับหรือทางเบี่ยง ถ้าใส่ใจสังเกต ระบบแจ้งเตือนเล็กๆ ตรงนี้ช่วยให้ผู้เล่นได้สำรวจตามใจชอบก่อนจะลุยเข้าสู่ฉากต่อสู้ใหญ่หรือบอสไฟต์ในแต่ละบทได้แบบสบายใจ

ประสิทธิภาพของเกม (Performance)

ผู้เขียนเล่นเกมนี้บนเครื่องพีซีที่ใช้ CPU Intel Core i5-13500 กับการ์ดจอ RTX 4070 SUPER (พร้อมไดรเวอร์รุ่นก่อนวางจำหน่าย: 576.31) ที่ความละเอียด 1440p โดยตั้งค่ากราฟิกสูงสุดเท่าที่เกมให้ได้ ผลที่ได้คือ เฟรมเรตลื่นไหลคงที่ที่ 90FPS ตลอดเวลา

แต่ความต่างของภาพระหว่างการตั้งค่าต่ำสุดกับสูงสุดนั้นไม่ได้มากนัก ผู้เล่นสามารถเลือกการตั้งค่าที่ให้ประสิทธิภาพดีที่สุดได้ตามเครื่องของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบกับบั๊กอยู่บ้าง เช่น เมนูสอนเล่น (Tutorial) ที่ไม่สามารถคลิกด้วยเมาส์ได้ ต้องใช้คีย์บอร์ดในการนำทาง และเมนูเลือกบท (Chapter Menu) ก็เป็นแบบเดียวกัน บางครั้งยังมีบั๊กเสียงฝีเท้าของ Slayer หายไปเฉยๆ ด้วย ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็รู้สึกสะดุดเล็กๆ

ผู้เขียนหวังว่าทางทีมงานจะเก็บรายละเอียดและแก้ไขบั๊กเหล่านี้ให้เรียบร้อยก่อนเกมวางจำหน่ายจริง เพราะทั้งหมดที่เจอถือว่าเป็นปัญหาเล็กน้อยที่ยังพอให้อภัยได้

ดนตรีและเสียงประกอบ

ผู้เขียนต้องขอชื่นชมการออกแบบเสียงของเกมนี้ ทุกอย่างรู้สึก “ทรงพลัง” อย่างแท้จริง เสียงโจมตีระยะประชิดมีความหนักแน่นราวกับกระดูกแตกเป็นชิ้น เสียงปืนคำรามราวกับฉีกปีศาจเป็นชิ้นๆ เสียงโล่กระแทกหรือเกราะแตกก็ให้ความรู้สึกโหดสะใจอย่างแท้จริง แม้กระทั่งเสียงหมัดหนักของ Atlan mech ก็มีแรงสะเทือนที่สัมผัสได้ และเมื่อมันเข้าปะทะกับปีศาจยักษ์ในระยะไกล เสียงสะท้อนก็ดังทั่วทั้งสนามรบ เอฟเฟกต์ทุกอย่างมีส่วนช่วยให้ผู้เล่นดำดิ่งเข้าสู่การต่อสู้อย่างสมบูรณ์

แต่แม้ว่าระบบเสียงเอฟเฟกต์จะทำออกมาได้ดีเยี่ยม ดนตรีประกอบกลับน่าผิดหวังเมื่อเทียบกัน เกม The Dark Ages ยังคงใช้แนว “อินดัสเทรียลเมทัล” แบบกระตุ้นอะดรีนาลีนเหมือน DOOM ภาคก่อน แต่ไม่มีเพลงไหนเลยที่ติดหู หรือเร่งเลือดให้สูบฉีดเหมือนที่เคยสัมผัสใน DOOM (2016) และ DOOM Eternal

ซาวด์แทร็กของภาคนี้ดูเหมือนจะ “เบาลง” กว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งที่ชัดเจนคือการไม่มี Mick Gordon นักแต่งเพลงที่เป็นหัวใจสำคัญของซาวด์แทร็ก DOOM ยุคใหม่ มาร่วมงานกับภาคนี้ ถึงแม้ภาพรวมยังคงมีบรรยากาศที่ดึงดูด แต่สำหรับแฟนเกมที่หวังจะได้ซาวด์แทร็กสุดเดือดแบบในตำนาน อาจจะรู้สึก “ขาดอะไรไป”

สรุป รีวิว DOOM: The Dark Ages

หลังจากใช้เวลา 12 ชั่วโมงครึ่ง ในโลกของ The Dark Ages ผู้เขียนก็รู้สึกประทับใจกับแนวทางใหม่ของ DOOM ที่พาเข้าสู่ยุคกลาง แม้ว่าเนื้อเรื่องจะยังคงทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมการต่อสู้เหมือนเดิม แต่ฉากคัตซีนและบทสนทนาเพิ่มเติมก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึก “อิน” กับการต่อสู้เพื่อ Argent D’Nur ขึ้นมานิดหน่อย แม้ว่าเรื่องราวจะยังไม่ถึงขั้นเป็น “ตำนานต้นกำเนิด” แบบเต็มตัวก็ตาม

การต่อสู้คือจุดเด่นของเกมนี้ คือระบบใหม่ๆ อย่างการฝึกใช้ Shield Saw เพื่อปัดป้องและสวนกลับศัตรูอย่างแม่นยำให้ความรู้สึกสะใจมาก โดยเฉพาะเมื่อผู้เล่นพุ่งเข้าไป ปล่อยศัตรูใหญ่ให้ชะงัก แล้วตามด้วยคอมโบ Dreadmace จนหน้าจอสั่นสะเทือน การต่อสู้ระยะประชิดและระบบปัดการโจมตีเข้ากันได้ดีจนผู้เขียนแทบไม่ต้องใช้ปืนเลย (แม้จะยังมีไว้ใช้ โดยเฉพาะ Super Shotgun สุดคลาสสิก)

การออกแบบฉากเริ่มต้นได้ดีและแน่น แต่ช่วงกลางเกมกลับกลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้างเกินไปจนบางครั้งรู้สึกเนือย ส่วนฉากขี่มังกรหรือควบคุมหุ่นยักษ์นั้น แม้จะสนุกและแปลกใหม่ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่า DOOM ที่แท้จริงนั้น มันควรเป็นเดินยิงบนพื้นมากกว่า

ประสิทธิภาพของเกมยังคงยอดเยี่ยม เฟรมเรตนิ่งที่ 90FPS และเสียงเอฟเฟกต์ก็ดุดันเช่นเดิม แม้ซาวด์แทร็กจะไม่ตราตรึงในใจเท่าไหร่ก็ตาม

ถ้าผู้เล่นกำลังมองหา DOOM ที่ช้าลงเล็กน้อย แต่เพิ่มความแท็คติก มีอารมณ์ยุคกลางดิบเถื่อน และมีจังหวะการเล่าเรื่องชัดเจนขึ้น The Dark Ages คือบทใหม่ที่สดใหม่และน่าพอใจในตำนานของ Slayer

ควรซื้อหรือไม่

ซื้อ – หากผู้เล่นต้องการ DOOM ในรูปแบบที่เน้นกลยุทธ์มากขึ้น มีระบบปัดการโจมตี, ฉากยุคกลางแบบสดใหม่, ปรับระดับความยากได้อย่างลึกซึ้ง หรือสนใจเรื่องราวมากขึ้นและอยากเริ่มต้นเข้าสู่จักรวาล DOOM แบบมีเนื้อเรื่องชัดเจน

ไม่ควรซื้อ – หากผู้เล่นต้องการเกมที่เน้นแอคชั่นรวดเร็วไม่หยุดนิ่ง, ต้องการซาวด์แทร็กเมทัลสุดเดือด, ไม่ชอบสนามรบกว้างโล่ง หรือชื่นชอบธีมไซไฟมากกว่ายุคกลาง

คะแนน 8.5/10

ข้อดี

  • การต่อสู้ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบ parry:
    ระบบ Shield Saw ให้ความรู้สึก “สะใจ” สำหรับผู้เล่นสายตั้งรับและสวนกลับ
  • ความหลากหลายของอาวุธระยะประชิด:
    Power Gauntlet, Flail และ Dreadmace มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พร้อมระบบชาร์จที่แตกต่างกัน
  • บรรยากาศยุคกลาง:
    ปราสาทพังทลาย, ปืนยิงกระดูก, ปีศาจใส่เกราะ — เหมาะสำหรับแฟนเกมธีมย้อนยุค
  • การเล่าเรื่องพัฒนาขึ้น:
    คัตซีนและบทสนทนาเพิ่มเติมทำให้ Slayer ดูมีมิติมากขึ้น
  • การปรับความยากที่ยืดหยุ่น:
    มีระดับความยาก 4 แบบ พร้อมโหมด permadeath และสไลเดอร์ปรับความยากด้าน parry, ความดุของศัตรู, ความแรง และทรัพยากร
  • ประสิทธิภาพและเสียงเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยม:
    เฟรมเรตนิ่งที่ 90FPS พร้อมเสียงปะทะที่หนักแน่นทุกช็อต
  • ระบบอัปเกรด:
    ทอง, ทับทิม, เส้นทางอาวุธที่แตกแขนง และรูนของ Shield Saw ให้ความรู้สึกพัฒนาจริงจังและหลากหลาย

ข้อเสีย

  • ฉากช่วงกลางเกมกว้างเกินไป:
    สนามรบแบบเปิดบางครั้งรู้สึกว่างเปล่า และทำให้จังหวะเกมช้าลง
  • ฉากพิเศษบางตอนดูเป็นลูกเล่น:
    การขี่มังกรหรือควบคุมหุ่นยักษ์แม้จะสนุก แต่ทำลายจังหวะของเกมหลัก
  • ซาวด์แทร็กไม่เร้าใจ:
    เอฟเฟกต์เสียงยอดเยี่ยม แต่เพลงประกอบไม่มีแทร็กไหนโดดเด่นหรือติดหู
  • ระบบสังหาร (Glory Kill) ไม่ดุดันเท่าเดิม:
    เว้นแต่จะใช้ Shield Saw Finish ท่าอื่นกลับรู้สึกเบาลง และไม่ต่อเนื่อง

อย่าลืมติดตาม Gamer555 เพื่อไม่พลาดข่าวสารเพิ่มเติมที่น่าสนใจ

Tags: BethesdaDOOM: The Dark Agesid SoftwareReview
ShareTweetPin
Previous Post

CESA ประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนหลัก 14 รายสำหรับโครงการ SELECTED INDIE 80 ในงาน Tokyo Game Show 2025

Norrachai Anansakdakul

Norrachai Anansakdakul

Book - เภสัชกรผู้เสพติดเกม รวมถึงชอบงานเขียน สามารถหายไปเป็นวัน เพราะการเล่นเกม Turn Base Strategy ได้

Related Posts

CESA ประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนหลัก 14 รายสำหรับโครงการ SELECTED INDIE 80 ในงาน Tokyo Game Show 2025
ข่าว

CESA ประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนหลัก 14 รายสำหรับโครงการ SELECTED INDIE 80 ในงาน Tokyo Game Show 2025

May 7, 2025
Honkai : Nexus Anima เกมใหม่? ค่าย HoYoverse
ข่าว

Honkai : Nexus Anima เกมใหม่? ค่าย HoYoverse

May 5, 2025
GTA 6 วางจำหน่าย 26 พฤษภาคม 2026 เลื่อนจากเวลาเดิมไปครึ่งปี
ข่าว

GTA 6 วางจำหน่าย 26 พฤษภาคม 2026 เลื่อนจากเวลาเดิมไปครึ่งปี

May 2, 2025

Discussion about this post

ติดตามเราได้ที่ Facebook

รีวิว

รีวิว Clair Obscur: Expedition 33 เกมระดับ AAA แรกของค่ายที่เปิดตัวได้อย่างยอดเยี่ยม
Playstation

รีวิว Clair Obscur: Expedition 33 เกมระดับ AAA แรกของค่ายที่เปิดตัวได้อย่างยอดเยี่ยม

April 23, 2025
รีวิว Venus Vacation PRISM : DEAD OR ALIVE Xtreme – เกมจีบสาวที่มีทุกสิ่งที่ควรมี
ทั้งหมด

รีวิว Venus Vacation PRISM : DEAD OR ALIVE Xtreme – เกมจีบสาวที่มีทุกสิ่งที่ควรมี

April 16, 2025
รีวิว Xenoblade Chronicles X: Definitive Edition แม้จะเกมเก่า แต่ยังเก๋าอยู่
Nintendo Switch

รีวิว Xenoblade Chronicles X: Definitive Edition แม้จะเกมเก่า แต่ยังเก๋าอยู่

April 8, 2025
พรีวิว Den of Wolves เอกลักษณ์การปล้นเป็นทีม ในโลกอนาคต
ทั้งหมด

พรีวิว Den of Wolves เอกลักษณ์การปล้นเป็นทีม ในโลกอนาคต

April 1, 2025
พรีวิว DOOM: The Dark Ages ความมันส์สุดเดือดในยุคกลาง
ทั้งหมด

พรีวิว DOOM: The Dark Ages ความมันส์สุดเดือดในยุคกลาง

March 31, 2025
พรีวิว Clair Obscur: Expedition 33 หนึ่งในที่มีโอกาสเป็นเกมยอดเยี่ยมของปี 2025
Playstation

พรีวิว Clair Obscur: Expedition 33 หนึ่งในที่มีโอกาสเป็นเกมยอดเยี่ยมของปี 2025

March 4, 2025 - Updated on March 7, 2025
  • ติดต่อเรา
  • สำหรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

© 2023 - 2025 Digital Braves Media Group Sdn Bhd

No Result
View All Result
  • Home
  • ติดต่อเรา
  • สำหรับนโยบายความเป็นส่วนตัว
  • เกี่ยวกับเรา

© 2023 - 2025 Digital Braves Media Group Sdn Bhd

Welcome Back!

Login to your account below

Forgotten Password?

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.

Log In