Final Fantasy XVI คือเกมล่าสุดในแฟรนไชส์ Final Fantasy ของ Square Enix ที่พัฒนาโดย Creative Business Unit III (ทีมผู้สร้าง Final Fantasy XIV) ถือเป็น Final Fantasy ภาคแรกที่ประกาศกันตรงๆ ว่าเป็น Action RPG ที่สามารถเล่นตัวละครได้เพียงตัวเดียว โดยมีจุดเด่นที่การนำพลังของ Eikon (มนตร์อสูร) มาใช้กับตัวละคร
*สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักตัวเกมเลย หรือยังไม่ได้เล่นเดโม บทความนี้อาจจะมีการสปอยล์เนื้อหาเล็กน้อยแต่ไม่มีการเปิดเผยบทสรุปเนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องถือเป็นจุดเด่นหลักของเกม Final Fantasy XVI ที่มีการเซตธีมได้เหมาะสมความเร็วการเดินเรื่องไม่น่าเบื่อ ซึ่งอาจจะดูมีโทนแตกต่างไปจาก Final Fantasy ภาคอื่น แต่โดยส่วนตัวแล้วเป็นการแตกต่างในทางที่ดี มีความเข้มข้น ดุเดือด หักเหลี่ยมเฉือนคมกันเต็มที่
ตัวเกมจะมีเนื้อเรื่องอยู่ที่ตัวเอก Clive Rosfield เจ้าชายแห่งอาณาจักร Rosaria ที่โดนรุกรานและสูยเสียทุกสิ่งจากสงครามใน Valisthea ซึ่งเป็นดินแดนที่ทุกอาณาจักรจ้องจะซัดกันเพื่อ Mothercrystal
สำหรับ Mothercrystal ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เรารู้ว่านี่คือเกมในแฟรนไชส์ Final Fantasy เพียงแต่ว่าในนี้หน้าที่ของมันจะไม่เหมือนภาคอื่น เพราะมันไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์อะไร แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโรคร้ายแทนต่างหาก นั่นทำให้อาณาจักรต่างๆ ทำสงครามใส่กัน(อารมณ์อาวุธนิวเคลียร์) ซึ่งตัว Clive หลักจากประสบชะตากรรมจนตกลงมาเป็นทหารทาส ก็บังเอิญหนีออกมาได้จากการช่วยเหลือของ Cidolfus Telamon (Cid ในภาคนี้) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายที่มีเป้าหมายที่จะสร้างโลกที่ทุกคนสามารถกำหนดเส้นทางของตัวเองได้ ซึ่งก็ไปสรุปตรงที่ Mothercrystal ทั้งหมดจะต้องถูกทำลาย จะได้เลิกมีสงครามบ้าบอนี้เสียที
อีกส่วนของเนื้อเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ Eikon เพราะเป็นหนึ่งในตัวตนที่แข็งแกร่งที่สุดภายในเกม ถ้าให้พูดก็คือมันคือเวทย์ซัมม่อนอสูรในภาคอื่นๆ แต่แทนที่จะเสกมาต่อยกันตรงๆ ก็กลายเป็นว่าเป็นพลังที่อยู่ในตัวของ Clive หรือตัวร้ายภายในเกมที่ได้รับพรจาก Eikon ซึ่งในเกมจะเรียกคนเหล่านี้ว่า Dominant
ส่วนหนึ่งที่ตัวผู้เขียนคิดว่าน่าจะแก้ข้อเสียจากภาคอื่นๆ คือเนื้อเรื่องทั้งหมดมันจบในตัวของมันเอง ตัวอย่างภาค 15 ที่เป็นภาคก่อนหน้า ที่เนื้อเรื่องไปอยู่ทั้งใน DLC หรือไม่ว่าจะอนิเมะ ที่หากขาดอันใดอันหนึ่งไป จะทำให้ตัวเนื้อเรื่องกลายเป็นรูโหว่ หรือแม้แต่ตัวภาค 7 เองที่มีหลายตอน กลายเป็นเกมแยกกันไป Final Fantasy ภาคนี้ ใส่ทั้งหมดลงมาเรียบร้อยในเกมไม่ว่าจะความเป็นไปของตัวละคร ผลสรุปของสงคราม Valisthea ซึ่งถ้าหาก DLC มีมาในอนาคตก็จะเป็นแค่ส่วนเสริม ไม่ใช่ส่วนเติมเต็มเกมภาคหลัก
อีกอย่างหนึ่งอาจจะไม่ถูกใจสายฟังเสียงญี่ปุ่น แต่ถูกใจสายฟังเสียง Eng คือ ตัวละครปากขยับตรงตามคำพูดของเสียง Eng แต่ด้วยภาพรวมเกมเป็นสไตล์ยูโรปยุคกลางจ๋าๆ ขนาดนี้ก็ยอมเปิดเสียง Eng ก็ได้เพียงแต่อาจจะไม่ชินเหมือนเกมสมัยเด็กที่เราเล่นกัน ก็เลยเป็นข้อที่บอกได้ว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสียแล้วแต่ความชอบของคน
ระบบการต่อสู้สไตล์แอคชั่น
โอเค ทุกคนเปรียบเทียบส่วนนี้บอกว่าเป็น Devil May Cry เพราะมีผู้ออกแบบการต่อสู้เป็นคุณ Ryota Suzuki แต่หลังจากลองเล่นแล้วผู้เขียนก็มองว่า มันมีความคล้ายคลึง แต่มันก็มีความต่างอยู่ เพราะตัวเกมไม่ได้เน้นความสามารถในการเล่นของคุณจ๋าๆ แบบ DMC แต่การนำ RPG ที่ต้องมีสกิลที่ดี ต้องมีเลเวลตัวละคร รวมถึงการผสมคอมโบ ทำให้มันมีความแตกต่างของมันเอง
ตัวเกมเปิดให้เราสามารถเลือกที่จะมีพลัง Eikon ในเวลาเดียวกันได้สามตัว หมายความว่าถ้าเล่นไปเรื่อยๆ โอกาสผสมคอมโบก็จะมากขึ้นตามแต่ Eikon ที่เราใส่มา ทำให้ผู้เล่นไม่รู้สึกซ้ำจำเจ หรือสามารถออกแบบให้ Clive เป็นตัวเอกในสไตล์การต่อสู้ของเราได้
แต่ระบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คือตัวเกมเหมือนจะมีทางเลือกมาให้เราเลือกได้มากมาย แต่ว่าการที่จะให้ตัวสกิลส่งผลมากที่สุด ต้องทำการอัปเกรดสกิลให้ขึ้น mastery ที่ต้องใช้ Ability point ซึ่งไม่ได้มาง่ายๆ ทำให้ความจริงการจะมีสกิล ultimate จาก eikon แบบสุดทาง คงต้องลองเล่นซ้ำเพื่อเปลี่ยนสาย หรือก็ตัดใจยอมเล่นสายที่อยากเล่นที่สุด
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการจำกัดจะไม่ใช่ไม่ดี เพราะแค่เพียงตัวเกมปลดล็อคให้สามารถเล่น Eikon ได้ถึงสามตัวเมื่อไหร่ มันก็ทำให้การต่อสู้ลื่นไหลมากเป็นที่เรียบร้อย ทั้งคูลดาวน์ คอมโบ เอฟเฟคต่างๆ ซึ่งแต่ละสายที่ลองมาต้องบอกว่าได้ผลทั้งหมด ไม่ว่าจะเน้นอัดไปที่ดาเมจตรงๆ หรือเน้นสร้างสถานะผิดปกติกับศัตรูเพื่อให้เราตีได้สบายใจมากขึ้นก็สามารถเล่นได้ไม่มีปัญหา
สรุปรวมแล้ว ระบบการต่อสู้ทำออกมาได้ลื่นไหล ต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ผู้เล่นเกมสไตล์แอคชั่นจ๋าก็สามารถทำคอมโบเจ๋งๆ ออกมาได้ ซึ่งมันก็มีรายละเอียดเกี่ยวกับระบบอื่นๆ ของการต่อสู้นอกจาก Eikon อย่างระบบ parry ที่ไม่หน่วงเกมและดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบบต่อสู้ ทำให้เกมเป็นมิตรกับผู้เล่นใหม่พอสมควรเลยทีเดียว
ในส่วนของ QTE เกมมีการใส่มาบ้างในฉากสู้กับบอสบางตัว ซึ่งถือว่าไม่เยอะจนเกร่อและน่ารำคาญ
แต่ต้องอย่าลืมว่า Final Fantasy คือเกมที่เน้น RPG ไม่ใช่แอคชั่น ซึ่งตัวเกมก็มีระบบอย่าง Limit Break ซึ่งก็จะคล้ายกับภาค 7 remake ที่ทำออกมาได้ดี ระบบการฟาร์มของ ฟาร์มเวล รวมถึงเงิน ที่ทำให้เกมเล่นได้สะดวกสบายขึ้น อันที่จริงคือคุณจะมั่นใจไม่ฟาร์มอะไรเลยแล้วไปไล่ตบบอสเลยก็ได้ หรือฟาร์มจนขยี้บอสได้สบายๆ แบบที่คนเขียนทำ ซึ่งบางทีทีมงานอาจจะตั้งใจแบบนี้อยู่แล้ว เลยสร้างโหมดให้พวกที่อยากได้เกมแอคชั่นจ๋าๆ ตายกันไม่พัก “Final Fantasy mode” หลังจากเคลียร์เกมแล้ว
AI ร่วมทีมที่ไม่ต้องดูแลมาก
ภาค 15 คือการนำเอา Action RPG มาใช้แบบ 4 ตัวละครในตี้ ซึ่งมันก็มีผลดีที่การต่อสู้หนึ่งครั้งเราจะได้สัมผัสตัวละครถึง 4 ตัว แต่กลับกันมันก็น่ารำคาญอยู่พอตัวในการที่ต้องมาปกป้องทั้ง 4 หนุ่มเพราะเราสามารถควบคุมได้ตัวเดียวแล้วต้องมาภาวนาไม่ให้ AI ทำอะไรโง่ๆ ไปตายกลางดองมอนสเตอร์ กลับกันในภาคนี้เรามีตัวละครควบคุมแค่ตัวเดียว แต่ไปเพิ่มความหลากหลายในการต่อสู้แบบที่เกริ่นไปด้านบน
เอาเรื่องความชอบออกไปก่อน ตัวเกมก็ยังมีระบบปาร์ตี้เวลาออกไปผจญภัย ซึ่ง AI จะควบคุมตัวละครในตี้เราแบบ 100% ไม่ว่าจะเป็นคน หรือน้อน Torgal ของเรา (มีน้อน เอาไป 10/10) ที่เราสามารถสั่งได้ด้วยเพื่อให้โจมตีหรือรีเลือด ซึ่งเข้าใจได้ง่าย
แต่ก็อย่าไปคาดหวังเรื่องความแรงหรือการฮีลแบบอลังการนะ ให้มองเป็นการต่อคอมโบให้เรามากกว่า อย่าง Torgal ก็มีสกิลที่งัดศัตรูรอบๆ ตัวทำให้เราต่อคอมโบได้สะดวกขึ้นถ้าใช้จนชำนาญ ในส่วนของปาร์ตี้ที่เป็นคนซึ่งเราสั่งไม่ได้ จะบอกว่าอย่างน้อยก็ไม่ทำคอมโบเราพัง แล้วก็ฉลาดพอที่จะตีลูกจ๊อกให้เรา แค่นี้ก็น่าจะพอแล้วล่ะ
ระบบอาวุธและการปรับแต่งอุปกรณ์
ในส่วนของการปรับแต่งตัวละคร เกมทำออกมาได้ประณีตและเข้าใจง่ายมาก ไม่ว่าจะ Eikon อาวุธ ชุดเกราะ ซึ่งได้มีการบอกรายละเอียดไว้ชัดเจนมาก แต่ตัว Clive ก็จะไม่เปลี่ยนตามชุดหรอกนะ ที่จะเปลี่ยนก็มีแค่ตัวอาวุธที่ถือเท่านั้น ไม่เช่นนั้นคงประหลาดน่าดู
แต่สำหรับพวกอุปกรณ์ อย่างแหวนซึ่งอาจจะทำให้เกมง่ายเกินไปสักนิด เช่น Ring of Timely Evasion ที่ทำให้ Clive หลบการโจมตีแบบออโต้ หรือ Ring of Timely Strike ที่เป็นเหมือน assist button ของเกมต่อสู้ กดปุ่มเดียวคอมโบที่เซตไว้ออกครบ ก็อาจจะทำให้สาย Action ออกอาการเซงเอาได้ แต่ก็ถือว่าดีสำหรับมือใหม่นะ ใครอยากแอคชั่นไม่ต้องใส่แหวนก็พอ
ในส่วนของผู้เขียนหลังจากเล่นไปสักพัก ก็ถือว่าระบบการปรับแต่งทำออกมาได้ตรงตามสไตล์เกม RPG มีอาวุธ มีอุปกรณ์ที่อัปเกรดได้เรื่อยๆ ซึ่งออกมาดีในระดับมาตรฐาน แต่เอฟเฟคของตัวอุปกรณ์อาจจะมากไปเสียนิด เพราะบางทีเหมือนต้องรื้อระบบการเล่นใหม่หมดเลยจากไอเทมชิ้นเดียว แต่เอาเป็นว่าองค์รวมทำออกมาได้ไม่แย่ แล้วรวมกับระบบ Eikon ก็ถือว่าดีเลยทีเดียว
ฉากต่อสู้ระหว่าง Eikon
อสูรยักษ์สู้กันด้วยกราฟฟิคระดับทำเครื่องระเบิด ฟังแค่นี้ใครก็ชอบไม่ว่าจะเป็นแฟนเกมหรือไม่ก็ตาม ซึ่ง Final Fantasy XVi ก็มีการซัดกันของ Eikon ข้อดีคือมันมีไม่เยอะนักในเนื้อเรื่อง หมายความว่าแต่ละฉากที่ซัดกันมันยอดเยี่ยมทั้งหมด ไม่ดูล้นและทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ถ้าลองเทียบกับตอนเดโม ผู้เขียนบอกได้เลยว่ามีการต่อสู้ในระดับนั้นหรือดีกว่าที่พร้อมจะดึงดูดสายตาของคุณ ซึ่งมันเยี่ยมยิ่งกว่าเมื่อรู้ว่าทั้งหมดใช้กราฟฟิคแบบ in game ไม่ใช่ CGI ซึ่งในยุคสมัยนี้ยังไม่มีใครทำกัน
ความสนุกอีกอย่างของการต่อสู้ระหว่าง Eikon คือเกมเพลย์ที่อยู่ด้านใน ให้คิดว่าคล้ายกับมินิเกมที่ตัวเกมไม่ได้ใส่เข้ามา อย่าง Phoenix vs Ifrit ก็เป็นสไตล์ rail-shooter หรือ Ifrit vs Garuda ที่เหมือนเล่นเกมมวยปล้ำอยู่ และทุกการต่อสู้ก็มีฉาก cinematic รวมถึง QTEs ที่ใส่มาได้จังหวะพอดิบพอดี ต้องชมผู้กำกับศิลป์รวมถึงเพลงของคุณ Masayoshi Soken ที่ทำให้การต่อสู้ในจุดนี้ออกมาสมบูรณ์
แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันคือตัว Ifrit ท่าน้อยไปมากๆ เทียบกับ Clive ร่างมนุษย์ ทำให้เกมเพลย์ออกมาดูทื่อไปหน่อย แล้วด้วยความเป็นเนื้อเรื่องหลัก มันเลยเหมือนว่าเราเล่นยังไงก็ชนะ แต่ก็เป็นเพียงแค่การต่อสู้กับ Eikon บางตัว เพราะในช่วงหลังๆ ถือว่าแก้ตัวได้ดีเลยทีเดียว บางทีทีมงานอาจจะให้มาเป็น tutorial การเล่นของ Eikon ก็ได้กระมัง
การสำรวจ และเนื้อหาอื่นๆ
อย่างที่ทุกคนรู้กัน เกมไม่ได้ทำออกมาเป็นเกม Open-world แต่มันก็อยู่ในระดับน่าพึงพอใจสำหรับสายเดินสำรวจ ทั้งพื้นที่ของ Valisthea มีความกว้างอย่างมากแล้วก็ถูกแบ่งเป็นพื้นที่เปิดให้เข้าไปสำรวจมากมาย อีกอย่างคือมันไม่มี mini map โผล่ขั้นมาในขณะที่เราเล่น ดังนั้นวิ่งเพลินๆ ก็มีหลงได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าไม่มี mini map จะเปิดแผนที่ไม่ได้ เราสามารถเปิดดูได้เสมอ ซึ่งมันก็ทำให้หน้าจอดูไม่เต็มไปด้วยแถบอะไรก็ไม่รู้ แล้วบางทีการเล่นสายสำรวจ หลงบ้างก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีเหมือนกัน แต่บางจุดก็ทำร้ายคนไปนิด เช่น มองไกลๆ เดินเข้าไปได้ พอไปถึงดันเดินผ่านไม่ได้ด้วยกำแพงล่องหน ก็จะหงุดหงิดนิดๆ
ตัวอย่างที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดไม่ต้องไปไหนไกล ลองดูแผนที่ Rosaria นี่แหละ ตัวพื้นที่เต็มไปด้วยหนองน้ำซึ่ง Clive ดันว่ายน้ำไม่เป็น ทำให้การเดินสำรวจมันติดขัด แล้วก็จำกัดเอามากๆ แถมบางจุดก็ทำเป็นลานโล่งเอาซะไม่ให้รู้เลยว่าในไม่ช้าต้องมีการสู้กับบอสในภารกิจสักภารกิจหนึ่งแน่ๆ เอาเป็นว่าผู้เขียนมองว่าถือเป็นหนึ่งในแผนที่ ที่หากเสียเวลาไปสำรวจแล้วรู้สึกได้ไม่คุ้มเสียเอาเป็นอย่างมาก
อีกหนึ่งอย่างของการสำรวจที่ผู้เขียนเสียดายคือไม่มีเมืองใหญ่ๆ อลังการให้เราหลงในเกม ส่วนมากจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยเล็กๆ ไม่ก็หมู่บ้านทั่วไป ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ อย่าง Rosalith ก็เป็นจุดที่สร้างมาเพื่อต่อสู้เท่านั้น ไม่สามารถสำรวจดูความเป็นไปของผู้คนในเมืองได้ แต่ก็เข้าใจว่าถ้าทำเมืองใหญ่ผู้คนพลุกพล่านบางทีผู้เล่นอาจจะเพลินจนเล่นเกมไม่จบ เพราะแค่หมู่บ้านเล็กๆ ก็มีตัวละครประกอบฉากที่น่าสนใจ กิจกรรมหรือเควสต่างๆ ให้ทำแบบเยอะพอตัวอยู่แล้ว
แล้วก็แทนที่ตัวเกมจะให้คุณเคลียร์เมืองหนึ่ง ไปเมืองต่อไป แล้วก็ไปเมืองต่อไปวนลูปไม่จบไม่สิ้น Final Fantasy XVI สร้างโครงสร้างเกมที่ทุกครั้งที่คุณมีความคืบหน้า ต้องกลับมาหา Cid ในศูนย์บัญชาการของเขา ซึ่งก็จะเจอตัวละครที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีทั้ง แม่ค้าเฒ่า Charon, Blackthorne ช่างตีดาบ, หมอ Tarja และ นักเล่าเรื่อง Harpocrates ซึ่งให้เราเข้าถึงระบบ Thousand Tomes ที่ทำให้เรารู้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับตัวละคร สถานที่ ประวัติศาสตร์ และนอกจากตัวละครยังมีอีกหลายสิ่งให้ทำภายในสถานที่แห่งนี้ซึ่งบางทีก็ทำให้เราฟาร์มจนไปตบเมืองต่อไปได้แบบสบายๆ เลยล่ะ
การประมวลผลบน PS5
ส่วนต่อไปที่อยากพูดถึงคือการประมวลผลของเกมบน PlayStation 5 และต้องพูดตามตรงว่าไม่รู้จะมีการแก้ไขในอนาคตหรือไม่ แต่ตอนนี้มันไม่สมบูรณ์ แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงตามผู้เล่นก็ได้ อย่างเช่น คุณสามารถเปิด Graphics mode เพื่อให้ภาพคมชัดระดับ 4K แต่จะมีเฟรมสูงสุดแค่ 30FPS หรือจะเปิด Performance mode ที่ลดระดับกราฟฟิคลงมาแต่ว่าเฟรมสามารถพุ่งไปได้ถึง 60FPS ตัวผู้เขียนเองเล่นในแบบ Graphics mode และพบว่ามีเฟรมเรตดรอปเป็นช่วงๆ อยู่ดี ซึ่งหลังจากทดลองทั้งสองโหมดแล้วก็พบว่าเฟรมเรตดรอปเหมือนกัน แต่ยังโชคดีว่าจุดที่ดรอปนั้นไม่ได้อยู่ในฉากต่อสู้ ไม่ว่าศัตรูจะมาเยอะก็ยังไม่ดรอป แต่กลับเป็นฉากเวลาสำรวจมากกว่าที่เกิดการดรอปขึ้น
แต่ก็อย่าลืมว่ากรณีทั้งหมดนี้ทีมงานอาจจะแก้ด้วย Day 1 Patch ซึ่งทางผู้พัฒนาก็ได้สัญญาแล้วว่าจะแก้ไขในอนาคต ในส่วนของระบบอื่นๆ ที่ PlayStation 5 สามารถสร้างให้ได้อย่าง Haptic Feedback และ Adaptive Trigger ซึ่งสรุปคือทำออกมาได้น่าผิดหวังไปหน่อย เราจะรู้สึกได้ในบางทีเวลาเปิดประตูใหญ่ๆ แต่เอาเป็นว่ามันไม่ให้ความรู้สึกสมจริงขนาดนั้นแม้จะใช้หูฟังที่มีระบบ 3D ซึ่งทั้งหมดฉากต่อสู้ทั่วไป คัทซีน หรือเดินเล่นในโลกกว้างก็ไม่รู้สึกต่างยกเว้นตอนที่ Eikon สู้กันเหมือนว่าทีมงานเน้นตรงนั้นเป็นพิเศษจนแทบไม่มีข้อเสียเลย
สรุป
สำหรับแฟนที่ยังมีความหวังว่า Final Fantasy XVI จะเป็นภาคที่ชุบชีวิตแฟรนไชส์นี้ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งต้องบอกว่าทีม 3 ซึ่งรับผิดชอบการสร้างทำออกมาได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้แฟนเกมยุคเก่าบางคนอาจจะไม่ชอบเพราะไม่ใช่ turn base แต่ว่าระบบ Action ที่ออกแบบมาในเกมทำออกมาให้สนุกและเข้าถึงง่าย ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่คิดมากที่จะนำรูปแบบนี้ไปในเกมภาคต่อๆ ไป ส่วนตลาด turn base อาจจะไปเน้นด้านภาค remake
ส่วนนี้ยังไม่รวมเนื้อเรื่องที่ยอดเยี่ยม ตัวละครที่น่าจดจำ โดยเฉพาะฉากการต่อสู้ของ Eikon ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
สรุปแล้วผู้เขียนมองว่า Final Fantasy XVI เติมเต็มความคาดหวังได้ดี แต่ก็ยังมีที่ติบ้างอย่างความง่ายของเกม ซึ่งเข้าใจได้เพื่อดึงดูดผู้เล่นใหม่ แต่ก็ง่ายเกมไปสำหรับสายเกม (บางทีคงต้องไปเล่น Final Fantasy mode แหละ) ส่วนติอื่นๆ คงเป็นเรื่องเฟรมเรต ที่ร่วงหลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะใน Performance mode ก็หวังว่าจะมีแพทช์แก้ไขในอนาคตอย่างที่ทีมงานเคยสัญญาเอาไว้จริงๆ
ข้อดี
- เนื้อเรื่องน่าดึงดูด
- ตัวละครน่าจดจำ และการแสดงที่เข้าถึงอารมณ์
- ตัวแผนที่ออกแบบมาได้ดี
- soundtrack ยอดเยี่ยม
- ระบบการต่อสู้ว่องไว ตื่นเต้น
- มีเรื่องให้เถลไถลเยอะ ฟาร์มวนได้เรื่อยๆ
ข้อเสีย
- การเล่นรอบแรกง่ายเกินไป
- การเล่นบน PS5 ยังไม่เสถียร มีเฟรมเรตดรอป (ต้องรอดู Day 1 Patch)
คะแนน 9/10 (ถ้าแก้ปัญหาเฟรมเรตได้ จะเพิ่มคะแนนภายหลัง)
Final Fantasy XVI จะเล่นพร้อมกันได้ในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ตั้งแต่เวลาเที่ยงคืน บน PlayStation 5
Discussion about this post