Like a Dragon ถือเป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งวิธีการเล่าเรื่องหรือเกมเพลย์ให้เข้าถึงผู้เล่นไม่ว่าเก่าหรือใหม่ แน่นอนว่ามีเนื้อหามากมายให้ค้นหาในภาคล่าสุด ไปดูกันใน รีวิว Like a Dragon: Infinite Wealth นี้ได้เลยว่ามีอะไรรอเหล่าเกมเมอร์กันอยู่บ้าง
สำหรับเนื้อหาภายในภาคนี้ยังอยู่กับตัวละครหลักทั้งสองในแฟรนไชส์อย่าง Kazuma Kiryu และ Ichiban Kasuga มากับพื้นที่ใหม่ๆ อย่าง Honolulu ฮาวาย ซึ่งแค่เนื้อเรื่องหลักนั้นก็ใช้เวลาไปมากถึง 40-50 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว แต่สิ่งที่ทีมพัฒนาใส่เข้ามามีมากมายมหาศาล และหากเล่นแบบไม่เร่งรีบน่าจะใช้เวลาได้สูงถึง 70 ชั่วโมงในการผ่านเนื้อเรื่องหลักรวมถึง side quest ที่ใกล้เคียงแบบไม่โดดข้าม และหากอยากเคลียร์เกมแบบ 100% ก็ใช้เวลาเกิน 100 ชั่วโมงแบบง่ายๆ ไม่ต้องสงสัย
*เนื้อหาที่มีในบทความนี้อาจมีการสปอยล์เนื้อเรื่องในช่วงต้นเกมเล็กน้อยหากไม่ได้ดู trailer มาก่อนหน้า
เกริ่นนำเนื้อเรื่อง
Like a Dragon: Infinite Wealth เป็นเนื้อเรื่องต่อจาก Yakuza: Like a Dragon โดยหนึ่งในตัวเอกอย่าง Ichiban Kasuga ได้กลายเป็น Hero of Yokohama ไปเรียบร้อยหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคกล่าว ก่อนที่ปัจจุบันเจ้าตัวจะทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนธรรมดาในบ้านเกิด แต่ก็ดันเกิดเหตุที่ทำให้ถูกไล่ออก(จากข่าวในช่องวีทูปเบอร์เกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา) และยังส่งผลให้เพื่อนอีก 2 คน Koichi Adachi และ Yu Nanba เสียงานของพวกเขาเช่นเดียวกัน
ผลสุดท้าย Ichiban ก็ตัดสินใจกลับไปสู่รากของเขาใน Yakuza: Like a Dragon หลังจากไม่เหลือทางอีกต่อไปและองค์กรยากูซ่าที่คุ้นเคยอย่าง Seiryu Clan ติดต่อมาว่าได้ข่าวแม่แท้ๆ ของเขาปรากฎตัวที่ฮาวาย ทำให้ Ichiban ได้โอกาสบินไปฮาวายเพื่อเจอกับแม่ที่พลัดพรากกันมานาน แต่ก็เกิดเหตุวุ่นวายตามมาอีกเพียบ ผลสุดท้ายกลายเป็นโดนขโมยจนหมดตัวแล้วฟื้นมาในสภาพเปลือยเปล่าที่ชายหาด(ที่ได้เห็นกันใน trailer)
หลังจากที่ไม่มีทางไปไร้สิ้นไม้ตอก ไม่มีใครให้ช่วยเหลืออีกแล้ว Ichiban ได้กลับสู่วงจรเดิมก็คือการสร้างตัวตนตั้งแต่ไม่เหลืออะไรเลยหาเงินเพื่อเป้าหมายในการมาฮาวายในครั้งนี้ แต่ยังโชคดีที่ Kazuma Kiryu ดันมาอยู่ที่ฮาวายเช่นเดียวกันและได้ให้ความช่วยเหลือแก่ Ichiban หลังจากช่วยเหลือกันไปสักพักกลับกลายเป็นว่าทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกันคือตามหา Akane แต่ไม่ใช่แค่ทั้งคู่เพราะองค์กรอาชญากรรมในฮาวายก็จ้องจะเล่นงานเธอเช่นเดียวกัน ส่งผลให้เป็นเนื้อเรื่องให้เราเล่นนั่นเอง
แผนที่ขนาดใหญ่
อย่างแรกแค่เมือง Honolulu ในฮาวายก็ใหญ่เอามากๆ ถ้าเทียบกับภาคก่อนหน้าก็คือใหญ่ประมาณ 3 เท่าของ Yokohama ใน Yakuza: Like a Dragon ซึ่งขนาดว่าภาคนั้นก็ใหญ่จากภาคก่อนหน้ามาแล้วนะ ทำให้ในการเล่น 20 ชั่วโมงแรกของผู้เขียน ตัวแผนที่ยังถูกสำรวจไม่เกินครึ่งเสียด้วยซ้ำ
แต่ไม่ใช่ว่าแผนที่ใหญ๋แล้วทีมงานจะไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ภาพทิวทัศน์ เสียงประกอบฉากไม่ว่าจะธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือเสียงบทสนทนาพูดคุยของผู้คนเมือง(ภาคนี้ไม่ว่าคุณเล่นภาษาอะไร เสียงพูดของคนฮาวายจะเป็นอังกฤษเสมอ) ปัญหาต่างๆ ในทุกตรอกซอกซอยทำให้เราได้สัมผัสกับความสวยงามในฮาวายพร้อมกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเกม Like a Dragon เสมอมา
แน่นอนว่าแผนที่ที่กว้างมาพร้อมกับสิ่งเถลไถล ถ้าเป็นสายทะเลก็สามารถไปนอนอาบแดด ว่ายน้ำ ดำน้ำหาสมบัติ หากไม่ชอบความเหนอะหนะของทะเลก็ไปเดินเที่ยวเตร่ในเมือง ช็อปปิ้งซื้อของกินที่มีหลากหลายชนชาติ ร้องเพลงคาราโอเกะ(นี่สิ 555) ไปเที่ยวในสถานที่แนะนำ หรือถ้าสายรีบก็ไปที่ Anaconda Shopping Center ซึ่งรวมทุกอย่างสำหรับการเล่นไว้ในที่เดียว เอาเป็นว่าทีมงานใส่ใจในการเสกเมือง Honolulu แบบสุดๆ
ระบบการต่อสู้
ก่อนหน้านี้ใน Yakuza: Like a Dragon หนึ่งสิ่งที่ผู้เล่นหลายคนบ่นก็คือเราไม่สามารถคุมสมาชิกในปาร์ตี้เราได้เลย ทั้งที่บางสกิลหรือท่าโจมตีต้องอาศัยตำแหน่งมาเกี่ยวข้องดังนั้นใน Infinite Wealth ทำระบบการต่อสู้ให้มีมิติมากขึ้นโดยการให้คนในปาร์ตี้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในพื้นที่ที่เรากำหนดได้เพื่อให้การโจมตีส่งผลมากที่สุด ซึ่งพื้นที่ที่เราควบคุมได้ก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเพิ่มเลเวลของตัวละคร
และในตอนนี้เราสามารถ “aim” หรือเล็งตำแหน่งว่าเมื่อเราทุบศัตรูแล้วอยากให้เด้งไปตกกระทบตรงไหน ไม่ว่าจะกำแพง หรือเพื่อนร่วมทีม ดังนั้นอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้าว่าตำแหน่งในการต่อสู้มีส่วนสำคัญ ระบบ aim ก็เป็นหนึ่งในระบบที่ใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนที่ของตัวละครในทีม
โดยรวมด้านสกิลและความสามารถใน Infinite Wealth มีความสมดุลครอบคลุมรอบด้านมากกว่า Yakuza: Like a Dragon อย่างที่สมัยก่อนสกิล AoE มังโกงแบบไม่ต้องคิดมาก แต่ว่าในภาคนี้การใช้ท่าโจมตีหมู่ก็ต้องวางแผนมากขึ้นเรื่องตำแหน่ง และความครอบคลุมของสกิลแทนที่เอะอะก็กดใช้
สิ่งใหม่ที่เพิ่มเข้ามานั้นเรียกว่า “Hype Meter” ซึ่งจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ infinity บนสมาชิกภายในทีม เมื่อเต็มแล้วทำให้เราสามารถกดใช้ท่าประสานไม้ตายคล้ายกับภาคก่อนๆ แต่แทนที่จะใช้ MP ก็มาใช้ Hyper Meter แทน ทำให้เราใช้ได้ถี่ขึ้นโดยเฉพาะการสู้กับเหล่าบอส
ฟีเจอร์ที่ถูกนำกลับมาก็คือ Poundmates ซึ่งเป็นการเรียกพวกที่เอ่อ… เอาเป็นว่าคนเล่นภาคเก่าๆ รู้กัน ซึ่งพวกที่เรียกมาก็จะมีทั้งการโจมตี หรือสนับสนุนแต่เอาเป็นว่าแข็งแกร่งระดับที่เปลี่ยนกระแสการต่อสู้ได้เลย ดังนั้นก็เพิ่มเทคนิคในเกมเพลย์เข้าไปอีก
Infinite Wealth ยังขยายระบบ job ให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น surfing Aquanaut, nunchaku-wielding Action Star, Fake Murasame-wielding Samurai, maracas-holding Geodancer, diligent Housekeeper หรือแม้กระทั่ง gun-slinging Desperado ซึ่งอาชีพทั้งหมดมีจุดเด่นทั้งสกิล ท่าโจมตี วิธีการเล่นแตกต่างกันออกไปทั้งหมด ข้อดีของภาคนี้ในการที่มีอาชีพที่หลากหลายก็คือเราสามารถเรียนรู้สกิลจากอาชีพอื่นได้ไม่ต้องฟาร์มแต้มให้ครบทุกอาชีพอย่างที่เคยเป็ฯในภาคก่อนๆ ทำให้เราปรับแต่งความสามารถได้หลากหลายและละเอียดมากขึ้น
มินิเกม
มันคงไม่ใช่ Like a Dragon ถ้าไม่พูดถึงเหล่ามินิเกม Infinite Wealth ยังคงมินิเกมจำนวนมากไว้อย่างเต็มเปี่ยมเพิ่มเติมคือเหล่ามินิเกมใหม่ๆ ที่จะมาดูดเวลาคุณจนผลสุดท้ายคือลืมเล่นเนื้อเรื่องหลักเสียอย่างงั้น
Dondoko Island: Dondoko Island คือมินิเกมที่ Ichiban อยู่ในเกาะของตัวเอง เหมือนเกมเอาชีวิตรอดผสมบริหารการจัดการที่เริ่มตั้งแต่ล่าสัตว์ สร้างสิ่งปลูกสร้าง บริหารจัดการเกาะเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เอาตรงๆ จากใจผู้เล่นเกมสายบริหารการจัดการ มันโคตรกินเวลาเลยโว้ย แถมมินิเกมนี้ยังมีเนื้อเรื่องเป็นของตัวเองอีก เอาเป็นมามันสามารถสร้างเป็นเกมแยกได้เลย แถมในมินิเกมแยกก็เหมือนเกมที่แยกได้อีก 2 เกมไม่รู้ทีมงานเอาพลังที่ไหนมาทำ(ส่วนแม่ของ Ichiban หรอ ช่างไปก่อนละกัน 555)
Sujimon Battle: จำ Sujimon จากภาคก่อนๆ ได้ไหม นั่นแหละมันกลับมาในภาคนี้(โอเค โปเกม่อนโดนขยี้อีกแล้ว หลังจากโดนมาหนักใน Palworld) มันมีทั้งหนังสือ index ที่เก็บข้อมูลทั้งสกิล ความสามารถ จุดอ่อน จุดแข็ง แล้วเราก็จับ Sujimon เอาไปสู้คนอื่นได้ในฐานะ Sujimon Trainer
สำหรับเกมเพลย์จะเป็น Kasuga ในฐานะ Sujimon Trainer ควบคุม Sujimon ในการต่อสู้กับเทรนเนอร์ฝ่ายตรงข้าม โดยแต่ละทีมมีตัวหลักสามตัวและอีกสามตัวไว้เปลี่ยนเมื่อตัวหลักล้มลง (โอเคเรื่องระบบการเล่นคงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเพราะมันล้อมาทั้งดุ้นเลย 555)
Crazy Delivery: ถ้าใครเคยเล่นเกม Crazy Taxi Crazy Delivery คือเกมแยกของ Like a Dragon ที่เอาเกมเพลย์มาใช้แต่ปรับให้เป็นมินิเกม แทนที่จะส่งผู้คนก็กลายเป็น GrabFood ส่งอาหารไปทั่ว Honolulu ที่คุณจะรู้สึกว่าคนส่งอาหารมันต้องจัดหนักจัดเต็มขนาดนี้เลยหรอ
นอกจากมินิเกม 3 เกมข้างต้นที่กล่าวมา ยังมีมินิเกมอีกมากมายให้เล่นไม่ว่าจะ เกมจีบสาวที่ Ichiban ไปเล่นแอปหาคู่แบบ Tinder เกม Ounabara Vocational School ที่เคยมีในภาคก่อนๆ รวมทั้งมินิเกมดั้งเดิมอย่างคาราโอเกะสุดที่รัก shogi ปาเป้า UFO catchers และเกมตู้เก่าๆ อีกมากมาย เอาเป็นว่าไอ้ที่เกิน 100 ชั่วโมงก็พวกนี้นี่แหละ
สรุป รีวิว Like a Dragon: Infinite Wealth
Like a Dragon: Infinite Wealth ถือเป็นเกมระดับ AAA ที่เปิดต้นปี 2024 ได้อย่างแข็งแกร่ง(ระดับเข้าชิง Game of the Year) ตัวเกมสามารถดึงดูดไม่ว่าจะผู้เล่นหน้าเก่าที่คุ้นเคยกับตัวละครหรือผู้เล่นหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี เนื้อเรื่องก็ยังคงความเข้มข้นผ่านการเล่าเรื่องของสองตัวละคร Kiryu และ Ichiban รวมถึงตัวละครเก่าหรือตัวละครใหม่ที่แห่กันมาสมทบอีกมากมาย
นอกจากนั้นในด้านเกมเพลย์ทั้งระบบการต่อสู้ ความเป็น RPG เก็บเวลอัปเกรดสกิล แผนที่ขนาดใหญ่ เนื้อหาในเกมที่ยัดใส่มาระดับบ้าบอจนทรงพลังเกินเหตุ ถือว่า Like a Dragon: Infinite Wealth คือเกมเดียวที่มีความครบถ้วนในตัวมันทั้งฉากฮา เนื้อเรื่องกินใจ ระบบการเล่นที่สนุกสนานแบบครอบจักรวาลเท่าที่จะไม่หลุดธีมไป
ข้อดี
- เนื้อหาในเกมเยอะมากๆ ไม่ว่าจะเนื้อเรื่องหลักที่ยาว มินิเกมมหาศาล เนื้อเรื่องย่อยอีกมากมาย
- เนื้อเรื่องหลักทำมาได้น่าติดตาม มีอารมณ์ร่วมซึ้งกินใจ
- แผนที่ขนาดใหญ่และใส่รายละเอียดมาอย่างพิถีพิถัน
- ระบบการต่อสู้พัฒนาขึ้นจากภาคก่อนๆ
- ระบบอาชีพมีความเป็น RPG สูงและมีความหลากหลายอย่างมาก
- มินิเกมที่บางทีเล่นจนลืมเนื้อเรื่องหลักไปเลย
ข้อเสีย
- บางทีเนื้อหาที่เยอะเกินไปอาจจะไม่ถูกใจสายเล่นเนื้อเรื่องหลักเพียวๆ
- New Game+ ไม่มีในเกมแบบ standard
คะแนน: 9.5/10
อย่าลืมติดตาม Gamer555 เพื่อไม่พลาดข่าวสารเพิ่มเติมที่น่าสนใจ
Discussion about this post