Diablo IV กำลังจะเปิดให้เล่นแล้ว วันนี้เรามารีวิวประสบการณ์การเล่นช่วง Pre Release ว่าระบบตัวเกมทั้งหมดเป็นอย่างไร คุ้มค่าแก่การรอคอยหรือไม่
เกริ่นเนื้อหาสำหรับมือใหม่
Diablo IV เป็นเกมที่ให้ผู้เล่นผจญภัยไปในเทือกเขาหิมะก่อนจะเข้าไปเจอหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปิศาจจนต้องร้องขอผู้เล่นให้เข้าไปแก้ไขในจุดนี้
คุณแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ ซึ่งทางหมู่บ้านก็ต้อนรับเลี้ยงฉลองเราก่อนที่จะกลายเป็นว่าคนในหมู่บ้านจับเราไปสังเวย ซึ่งทำให้เราได้ความสามารถในการดูอดีตผ่านกลีบดอกไม้สีเลือด จนได้รู้ว่า Lilith ได้กลับมา Sanctuary แล้ว
เนื้อเรื่องภายในเกม
ในเนื้อหานี้จะไม่สปอยล์เนื้อเรื่องหลังจาก Prologue และ Act I ที่เปิดให้เล่นไปก่อนหน้า ผู้เขียนมองว่าตัวเนื้อเรื่องมีความน่าสนใจในการดึงตัวละครต้นกำเนิดของ Sanctuary อย่าง Inarius และ Lilith แต่ก็มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือหลังความดึงดูดด้วยตัวละครในช่วงต้นแล้ว ตัวเนื้อเรื่องออกโทนไปทางน่าเบื่อเสียอย่างงั้น (ซึ่งภายในดิสคอร์ดของคนที่ได้เล่นก็เห็นตรงกัน) มันมีฉากที่บิ้วด์อารมณ์เศร้า เสียใจมากเกินไป ซึ่งอันที่จริงมันก็ตรงกับตัวแฟรนไชส์เกมนี้ แต่พอไปถึงช่วงหลังของเนื้อเรื่อง ไอ้ความเศร้าที่ปูมาก็จะทำให้เรารู้สึกว่า เออ ช่างมันละกัน
สำหรับผู้เขียนแล้วทางเกมพยายามใส่รายละเอียดเข้าไปในตัวประกอบทุกตัว ทั้งภูมิหลัง นิสัยใจคอ เป้าหมาย แต่บางทีเราก็ไม่ค่อยอินไปกับความคิดของตัวละครเหล่านั้น อย่างที่พูดกันได้เช่น เนื้อเรื่องของ Neyrelle กับแม่ เราก็ไม่ค่อยสนใจกับส่วนนี้นัก ด้วยความที่เราอยากรู้เรื่องของ Lilith Inarius และ Rathma มากกว่า ซึ่งก็มีข่าวดีที่หลังจากนี้ตัวละคร Neyrelle จะพัฒนาขึ้นกว่าเดิม
ในความคิดเห็นถ้าเทียบว่าเนื้อเรื่องใน Act I ถึง Act III นั้นมีความเร็วที่พอดี หลังจากนั้นตัวเนื้อเรื่องจะรีบเกินไปอย่างมาก กลับกันถ้าตอนแรกช้าเกินไป ตอนหลังก็จะอยู่ในระดับที่พอดี แต่ส่วนตัวแล้วน่าจะเป็นอย่างแรกมากกว่า เพราะในตอนที่เล่นเอง ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าผ่านไป Act ต่อไปแล้วหลังจากจบเควส
สำหรับเนื้อหาตอนจบ ใช้คำว่าเหมาะสมที่จะไปต่อ ไม่ว่าจะภาคใหม่หรือการเล่นหลังจบเนื้อเรื่อง ที่ทำให้ทุกอย่างดูเมคเซนส์ อาจจะไม่ถูกใจหลายคนที่ต้องการบทสรุปทั้งหมดในจุดนั้น แต่การรอคอยหลังจากจบเนื้อเรื่องแล้วดูว่าจะมีอะไรต่อก็ถือว่าทำออกมาได้ดีมาก
งานภาพภายใน
สิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันสำหรับ Diablo III คือโทนรวมของเกมมันดาร์คไม่พอ แต่สำหรับ Diablo IV ได้กลับไปมืดหม่นอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้เราอินไปกับตัวเกมได้มากขึ้น ซึ่งตัวผู้เขียนที่โตมากับ Diablo I และ II รู้สึกชอบกับการปรับในจุดนี้มากที่สามารถดึงบรรยากาศเก่าๆ กลับมาได้อีกครั้ง
ในขณะที่ส่วนอื่นในเกมก็แสดงถึงความกดดัน หมองหม่น ทั้งซากศพ เลือด สิ่งที่อยู่ในแต่ละฉากที่กว้างขวางของเกมได้ถูกใส่รายละเอียดมาอย่างดี ซึ่งทำให้เรามีความอยากสำรวจลึกเข้าไปในแผนที่ของเกม
อีกสิ่งหนึ่งที่ตัวผู้เขียนชอบมากคือคัทซีนที่ใส่มาในเกม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่ในแฟรนไชส์เกมนี้ ซึ่งการตัดสลับไปมาระหว่างคัทซีนและตัวเนื้อเรื่องหลักของเกมทำออกมาได้ยอดเยี่ยม เร่งเร้าจังหวะของอารมณ์ที่รู้สึกอยู่ตรงหน้า ตัวอย่างเช่นคัทซีนที่เราได้เจอ Inarius เป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าหากเป็นตัวเกมแบบภาคก่อนๆ คงไม่อลังการระดับนี้
อีกหนึ่งระบบคือการปรับแต่งตัวละครในเกม คือมันอาจจะไม่เยอะเทียบเท่าเกมอื่นที่ใส่มาแบบเต็มที่ แต่ก็เพียงพอที่จะทำหน้าที่ของมันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรงผม สีผิว หรือแม้กระทั่งรอยสัก แต่ก็มีอย่างนึงที่ถ้าแก้ได้จะอิสระมากกว่าเดิมคือรูปร่างของแต่ละคลาสซึ่งกำหนดมาอยู่แล้ว แต่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมเกมถึงกำหนดมาให้เป็นแบบนั้นเพื่อให้ตรงตามเนื้อเรื่องในเกม แต่คนที่จินตนาการสร้างสรรค์ก็อยากเล่นแบบ เนโครสายกล้ามที่น่าจะเอาหมัดไปต่อยแทนเสกกระดูกไรงี้บ้าง
Gameplay
ระบบการต่อสู้
สำหรับการเล่น Diablo IV หลักๆ ก็คือการบริหารสองสิ่งคือเลือด กับสิ่งที่ใช้ร่ายเวทย์ (ซึ่งแตกต่างไปตามคลาส) เลือดก็ตรงตัว ถ้าหมดก็ตาย และมีขวดยาไว้เติมเฉกเช่นภาคก่อนๆ
อีกสิ่งหนึ่งคือทรัพยากรสำหรับการร่ายเวทย์ (มันไม่ได้เรียกว่า mana) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เล่นเกมนี้ได้สนุก กับการบริหารสิ่งนี้ร่วมกับการใช้เพื่อร่ายเวทย์จู่โจมออกไป ซึ่งที่มาก็ต่างกันไม่ว่าจะได้จากการโจมตีปกติ เพิ่มตามเวลา หรืออย่าง Barbarian ที่ต้องไล่เก็บใหม่ทุกครั้งที่เข้าสู้
เมคคานิคใหม่สำหรับ Diablo IV ที่เพิ่มเข้ามาแล้วทำให้การต่อสู้ลื่นไหลขึ้นคือระบบหลบหลีก (Evade) ซึ่งก็ง่ายๆ ก็ปุ่มแล้วตัวละครเราจะพุ่งไปด้านหน้า แต่การที่มีการหลบทำให้จังหวะในการต่อสู้ซับซ้อนและสนุกขึ้น ยิ่งบอสในภาคนี้เวลาโจมตีจะมีตัวระบุว่าจุดไหนจะโดนจู่โจม ทำให้การใช้ระบบนี้มีความสำคัญมากนั่นเอง
นอกจากนี้การออกแบบแผนที่ยังมีผลในการต่อสู้สำหรับบางคลาส เช่น Barbarian ที่สามารถดันศัตรูได้ แล้วถ้าตรงนั้นมีกำแพงก็จะสตั้นมันแทน ทำให้ตัวสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีผลต่อการต่อสู้ไปด้วย
สำหรับการต่อสู้กับบอส ตัวบอสจะมีขีดที่แปะอยู่บนหลอดเลือด ซึ่งเมื่อเราตีบอสจนเลือดลดถึงขีดนั้นจะดรอปยาเลือดมาให้เรา แต่ตัวบอสก็จะมีรูปแบบการโจมตีใหม่ๆ ขึ้นมา ทำให้ยิ่งบอสเลือดเหลือน้อยจะยิ่งสู้ยากมากขึ้น ทำให้มีความหลากหลายเกิดขึ้นในระหว่างการสู้บอสแค่ตัวเดียว
คลาส (ระบบอาชีพ)
พูดถึงคลาสที่มีในเกมทั้งหมด 5 คลาส (Necromancer, Druid, Rogue, Barbarian, Sorcerer) ถือว่ามีจุดเด่นที่ไม่มีความใกล้เคียงในวิธีการเล่นหรือแม้แต่รูปลักษณ์ภายนอกเลยซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งจะเป็นการตอบสนองต่อสไตล์การเล่นของผู้เล่นแต่ละแบบ ไม่ว่าจะโดดแปลงร่างเข้าไปลุย สร้างกองทัพแล้วตัวเองนั่งจิบชา โดดหลบไปมาแบบพริ้วๆ ก็สามารถเลือกได้ตามความชอบของผู้เล่น
นอกจากนี้ภายในคลาสเองก็ยังมีสายการเล่นหลากหลาย ซึ่งก็มีความแตกต่างกันมากพอสมควร ทำให้เราอาจจะชอบคลาสนี้มาก จนวนกลับมาสร้างตัวละครเพื่อไปเล่นสายอื่นยังได้ ซึ่งพอมีวิธีการเล่นมากขนาดนี้ ยังไงก็ตอบสนองผู้เล่นได้ครบทุกสไตล์แน่นอน
Skills
ระบบ Skill tree ของ Diablo IV นั้นกว้างมาก ทำให้อาจจะมีการลองผิดลองถูกพอสมควรในการสร้างสายการเล่นที่เหมาะสม ซึ่งบางทีเล่นๆ ไปเราอาจเจอ build ที่โกงเทพโดยบังเอิญก็ได้
แต่มันก็มีข้อเสียอยู่สำหรับผู้เล่นใหม่ เมื่อเข้ามาแล้วเจอจำนวนสกิลมากขนาดนั้น แล้วยังไม่มีพื้นฐานในเกม Diablo ทำให้เลือกไม่ถูกว่าควรอัพสกิลอะไรดีถึงจะมีประโยชน์จริงๆ ซึ่งเกมน่าจะเข้าใจในจุดนั้นเลยเพิ่มระบบการรีสกิลฟรีให้สำหรับ เลเวล 1-8 ทำให้ผู้เล่นได้ลองไปเรื่อยๆ ว่าสกิลไหนมีประโยชน์กับวิธีการเล่นของแต่ละคน โดยที่ไม่ต้องคิดมากว่าจะอัพผิด
แต่หลังจากที่ชินกับระบบสกิลแล้ว เมื่อผู้เล่นไปถึง เลเวล 50 จะมีระบบ Paragon Board ที่เรียกว่าต้องทำการวิจัยเลยดีกว่าว่าจะทำอย่างไรกับระบบนี้ (ซึ่งเราจะไม่ลงลึกกับระบบที่ว่ามา)
การปรับแต่งพัฒนาตัวละคร
สำหรับการอัพเกรดตัวละครซึ่งมองได้ 2 แบบ คือ ความเก่งในเกม กับรูปลักษณ์ภายนอก สำหรับระบบ loot หรือดรอปของจะไม่ได้ช่วยเรื่องรู้ลักษณ์ภายนอก ซึ่งตัวไอเทมที่อยู่ในส่วนนี้จะเน้นไม่ที่ด้านเกมเพลย์ ซึ่งก็มีความลึกเข้าไปอีกจากระบบ Occultist ที่สามารถผสมความสามารถของไอเทมระดับ Legendary ไปมาได้
ในส่วนของไอเทมสำหรับรูปลักษณ์ภายนอกจะมีระบบ Transmogrification ที่สามารถใส่ของทับไอเทมหลักเพื่อแสดงผลด้านรูปลักษณ์เท่านั้น เพราะบางทีไอเทมเทพแต่มันไม่เท่ แล้วระบบนี้ยังใช้ง่ายไม่ยุ่งยากซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก
สำหรับการดรอปของระดับ Legendary ยิ่ง World Tier สูงของยิ่งดี โดยเฉพาะตั้งแต่ Tier 3 เป็นต้นไป ซึ่งยิ่งฟาร์มมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสที่เราจะหาของผสมเพื่อเอฟเฟคที่สุดยอดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ทำให้เกมสามารถฟาร์มกันได้ยาวๆ แม้จะเล่นจบเนื้อเรื่องไปแล้ว
ดันเจี้ยน
เวลาทั้งหมดส่วนมากใน Diablo IV จะถูกดูดไปกับการลุยดันเจี้ยน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง จุดฟาร์ม เควสรอง ซึ่งถ้านับรวมๆ มันมีดันเจี้ยนมากกว่า 110 แห่งภายในเกม ซึ่งภายในแต่ละดันเจี้ยนก็มีการสุ่มสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน ทำให้มีความหลากหลายในการเล่นอีกด้วย (ยกเว้นที่เป็นดันเจี้ยนเนื้อเรื่อง)
ด้วยความที่ภายในดันเจี้ยนนั้นมีเป้าหมายต่างกันเพื่อเคลียร์ เช่น กวาดมอนให้หมด ช่วยนักโทษที่อยู่ภายใน วิ่งทะลุไปปาดบอส ซึ่งทำให้เราสามารถเล่นวนได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อจากความจำเจ
หนึ่งในดันเจี้ยนที่รู้สึกใช่เลย คือดันเจี้ยนที่มีห้องเดียวเสร็จแล้วก็มีมอนโผล่มารุมกระทืบเรา ซึ่งถ้ากำลังฟาร์มอยู่เรียกได้ว่าเป็นดันเจี้ยนที่อยากเจอมากๆ
สรุป
ถ้าเป็นผู้เล่นสายฟาร์มของ ที่มีสิ่งต่างๆ ให้คนหา ปรับแต่งความสามารถของตัวละครเราไปเรื่อยๆ Diablo IV เรียกว่าเป็นเกม AAA ที่ดีที่สุดเลยก็ได้ ด้วยความอิสระในการเลือกวิธีการเล่นภายในเกม ทั้งสกิล สไตล์การเล่น ไอเทมที่ฟาร์มมาซึ่งมีให้เราค้นพบได้แบบแทบไม่จบสิ้น สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือเรารู้สึกว่าเราเก่งขึ้นเมื่อเรายิ่งฟาร์ม ไม่ใช่บางเกมที่ฟาร์มไปแล้วเราจะรู้สึกว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่นะ
Diablo IV ยังคงความเป็นตัวเองได้สูง ถึงแม้จะมีการเพิ่มระบบ MMO มาเล่นกับคนอื่นเช่น Worldboss แต่ตัวเกมหลักยังสามารถเล่นแบบไม่สนใจใคร ฉันสนุกของฉันนี่แหละคือทางเดิมของ Diablo
ในส่วนของการฟาร์ม เรียกว่าบันเทิงหรือหัวร้อนดี เพราะลองคิดว่าเล่น Sorcerer สายไฟ แต่ของที่ดรอปออกมาหลังจากฟาร์มอย่างยาวนานมีแต่ไฟฟ้า เรียกความหัวร้อนได้พอตัว แต่ก็เป็นทั่วไปของเกมสายฟาร์มที่รับได้ แถมการฟาร์มก็ไม่ได้เอื่อยถึงขนาดที่ว่าดรอปของรอบนี้ไม่ได้กว่าจะดรอปอีกทีแทบหลับ แต่ก็สามารถลุ้นดรอปได้เรื่อยๆ ซึ่งมากลบจุดที่ทำให้หัวร้อนได้
ข้อดี
- ปรับแต่งการเล่นตัวละครได้หลากหลายมาก
- คัทซีนในเกมดีอลังการ
- สามารถเล่นได้เรื่อยๆ แม้จะจบเกมแล้ว
- แต่ละคลาสที่เล่น เหมือนเล่นคนละเกมทำให้ปั้นตัวละครใหม่ได้ไม่เบื่อ
ข้อเสีย
- ความเร็วของการเล่าเนื้อเรื่อง ที่ไม่สม่ำเสมอ ช่วงท้ายไวเกินไปเหมือนยัดมา
คะแนน: 9/10
Discussion about this post