เป็นประเด็นใหญ่สำหรับวงการเกมเมื่อทางสมาคมที่เกี่ยวข้องกับเกมไปเจอ ร่างพรบ.ภาพยนตร์และเกม ที่ระบุว่าถ้าจะส่งออกเกม ต้องขอจัดเรตติ้งก่อน
ตามปกติกฎหมายส่วนมากก่อนจะเข้าไปยื่นเรื่องอนุมัติในสภา ต้องมีการประกาศร่างออกมาก่อน เช่นเดียวกันกับ พรบ.ภาพยนตร์และเกมฉบับใหม่ โดยทางทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้เปิดเผยและให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา
เพียงแต่ปกติแล้วก็ไม่ได้มีประชาชนเข้าไปดูร่างพระราชบัญญัติ จนกระทั่งมีสมาคมเกมฯ สมาคมฯแอนิเมชั่น ตาดีไปเจอเข้าก่อนจะหมดวันรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยในเนื้อหาระบุว่าต้องการให้ พรบ. ฉบับนี้ให้มาใช้แทน พรบ. ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ฉบับเดิมของปี 2551 เพื่อให้ครอบคลุมทั้งภาพยนตร์และวิดีโอเกมที่สร้างขึ้นในประเทศไทย
เราไปดูรายละเอียดของร่างพระราชบัญญัตินี้ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นการถกเถียง
“มาตรา ๑๗ การส่งภาพยนตร์หรือเกมที่สร้างขึ้นในราชอาณาจักรออกไป นอกราชอาณาจักร จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดระดับความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เว้นแต่ได้รับการจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาภาพยนตร์หรือเกมตามมาตรา ๑๕ หรือได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๐ แล้ว”
.
“มาตรา ๒๔ สื่อโฆษณาภาพยนตร์หรือเกมต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดระดับความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับสื่อโฆษณาภาพยนตร์หรือเกมที่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตตามกฎหมายอื่นแล้ว”
.
“มาตรา ๗๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๕ มาตรา ๑๗ มาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๔ ต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงห้าล้านบาท”
สรุปประเด็นคือ หากมีการผลิตหรือพัฒนาภาพยนตร์หรือเกมขึ้นมาในประเทศไทย หากจะส่งทดสอบหรือจัดจำหน่ายออกนอกประเทศแล้ว จำเป็นต้องมายื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการจัดระดับความเหมาะสมก่อน แล้วจึงทำได้ หากลัดขั้นตอนไม่ได้ขอ สามารถโดนปรับได้ตั้งแต่ 1 หมื่น จนถึง 5 ล้านบาท
นอกจากนี้ หากอ่านตัวบทกฎหมายให้ดีจะมีข้อความที่คลุมเครือซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงไปถึงวิดีโอด้วย หมายความว่าหากเราอัพโหลดคลิปลง Youtube หรือ Tiktok แล้วมีผู้ใช้งานจากต่างประเทศมาดูโดยที่เราไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อน ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายฉบับนี้เช่นเดียวกัน
นั่นทำให้เหล่าผู้พัฒนาเกมออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างยกใหญ่ หลายคนก็มองว่าเป็น พรบ. ที่สร้างความควบคุม ลดการสนับสนุน และทำให้เนื้อหาทั้งหมดต้องผ่านสายตาหน่วยงานรัฐบาลก่อนทำให้ลดความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างภาพยนตร์และเกม
หนึ่งในความเห็นจากผู้พัฒนาเกมไทยบริษัท Debuz อย่างคุณ Sittichai Theppaitoon ได้พูดไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “แค่ชวนเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศเล่นเกมที่เราทำเองแต่ยังไม่ได้ขออนุญาต แล้วโดนจับได้ ก็โดนปรับได้สูงสุดเลย 5 ล้านบาท”
หลังจากเกิดกระแสขึ้นทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงขยายเวลารับฟังความคิดเห็นจากเดิมที่สิ้นสุดไปแล้ว ไปสิ้นสุดในวันที่ 24 พฤษภาคม สามารถไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พรบ.ภาพยนตร์และเกมได้ที่นี่
ที่มาของข้อมูล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
Discussion about this post